ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 1/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 21:36
- Hits: 15513
ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการประชุม กบส. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กบส. ครั้งที่ 1/2564 และรายงานให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเสนอ กบส. ตามขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กบส. รายงานว่า ได้มีการประชุม กบส. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้
1. กรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
1.1 สาระสำคัญ โครงการรถไฟจีน-สปป. ลาวเป็นทางรถไฟมาตรฐาน ขนาดทาง 1.435 เมตร รวมระยะทาง 422 กิโลเมตร เชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองโบเต็น จีน และเมืองหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ซึ่งห่างจากท่านาแล้ง สปป. ลาว ที่เป็นจุดสิ้นสุดรถไฟเชื่อมโยงกับจังหวัดหนองคาย ประมาณ 16 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ในส่วนของสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีน พบว่า มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวและเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการค้าระหว่างไทย-สปป. ลาว พบว่า มูลค่าการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และไทยได้ดุลการค้ามาโดยตลอดอย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป. ลาว เช่น (1) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เป็นสะพานที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างรถยนต์และรถไฟ โดยในช่วงระหว่างการเดินรถไฟจำเป็นต้องปิดสะพานไม่ให้รถยนต์สัญจร ซึ่งสะพานสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 20 ตัน ต่อตู้ รวมทั้งอาจเกิดความแออัดและเกิดการรอคอยบริเวณพื้นที่โดยรอบด่านศุลกากร และ (2) สปป. ลาวขาดความพร้อมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ในการยกขน
นอกจากนี้ ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟจีน-สปป. ลาว สศช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ เช่น การบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดเตรียมความพร้อมในกระบวนการและพิธีการศุลกากร มาตรการการค้าระหว่างจีน-สปป. ลาว-ไทยและภูมิภาค และการพัฒนาและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยด้านการบริการโลจิสติกส์
1.2 ความเห็นและประเด็นอภิปราย
1.2.1 การเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟจีน-สปป. ลาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนเกี่ยวกับข้อมูลการนำเข้าส่งออกสินค้าในระยะที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับคาดการณ์ปริมาณ รูปแบบ เส้นทางการขนส่ง และประเภทสินค้าที่คาดว่าจะมีการขนส่ง เพื่อให้การเตรียมการรองรับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1.2.2 กรอบแนวทางและงบประมาณในการดำเนินงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายจีน-สปป. ลาว ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565 รวมทั้งควรกำหนดแนวทางการเพิ่มศักยภาพการรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการเปิดให้บริการ
1.2.3 การขนส่งสินค้าและการเดินทางผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป. ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคายควรเร่งรัดการเจรจากับ สปป. ลาวในการผ่อนผันการเปิดจุดผ่านแดนอื่นๆ สำหรับ การนำเข้า-ส่งออกและการเดินทางสัญจร เพื่อลดความแออัดบริเวณสะพานฯ รวมทั้งคำนึงถึงการรับน้ำหนักและความปลอดภัยของสะพานฯ ด้วย ซึ่งกระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า ได้ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงสะพาน อย่างต่อเนื่องตามแผนการซ่อมบำรุง
1.2.4 การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบราง คค. ควรเร่งเจรจา 3 ฝ่าย (จีน-ไทย-สปป. ลาว) เพื่อแก้ไขปัญหา Missing Link ให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญในการบริหารจัดการการเดินรถไฟเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระบบรางได้สูงสุด รวมทั้งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน รวมถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะต่อไป
1.2.5 การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้า คค. ควรพิจารณาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสถานีนาทา (เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายรถไฟไทย-สปป. ลาว) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถรองรับกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
1.2.6 การอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้านำเข้า ส่งออก และผ่านแดน กรมศุลกากรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้า ส่งออกและผ่านแดนทางรถไฟ ณ ด่านศุลกากรหนองคายได้แล้ว นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังมีความพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และในระยะยาวจะปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าได้มากขึ้น
1.3 มติที่ประชุม
1.3.1 เห็นชอบกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายจีน-สปป. ลาว และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกรอบแนวทางฯ และรับประเด็นความเห็นของ กบส. ไปประกอบการดำเนินการ
1.3.2 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดแผนงาน/โครงการตามกรอบแนวทางฯ และเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
1.3.3 มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการแนวทางการพัฒนาระยะปานกลางรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายจีน-สปป. ลาว พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1.3.4 มอบหมายให้จังหวัดหนองคายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจากับสปป. ลาวเพื่อผ่อนผันการเปิดจุดผ่านแดนอื่นๆ สำหรับการนำเข้า-ส่งออก และการเดินทางสัญจรเพื่อลดความแออัดบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-สปป. ลาว แห่งที่ 1
2. การพัฒนาระบบ National Single Window (NSW)
2.1 สาระสำคัญ ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW แล้ว 10,107 รายการ จาก 11,352 รายการ คิดเป็นร้อยละ 89.03 และมีหน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลครบถ้วนแล้ว 19 หน่วยงาน จากทั้งหมด 24 หน่วยงาน นอกจากนี้ ไทยได้เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลใบขนส่งสินค้าอาเซียนอย่างเป็นทางการกับสิงคโปร์และราชอาณาจักรกัมพูชาแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างปรับปรุงกระบวนงานต่างๆ ได้แก่ การลดระยะเวลาและขั้นตอนของการตรวจสอบสินค้าของหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต ณ ท่า/ที่นำเข้า-ส่งออก และการขนส่งสินค้าในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์กลางการกระจายสินค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ส่งออกสินค้า
2.2 ความเห็นและประเด็นอภิปราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรองรับการชำระเงินและส่งข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการยืนยันตัวตนด้วยระบบดิจิทัลผ่านระบบ NSW เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถชำระค่าบริการเกี่ยวกับการขนส่ง ค่าธรรมเนียมภาครัฐ และชำระค่าบริการสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ
2.3 มติที่ประชุม รับทราบผลการดำเนินการฯ โดยให้กรมศุลกากรรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการต่อ กบส. ต่อไป
3. กรอบแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก การแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกข้อมูลรายการสินค้าควบคุม
3.1 สาระสำคัญ กรอบแนวทางปฏิบัติฯ เป็นการกำหนดรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตฯ การแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกข้อมูลรายการสินค้าควบคุม การปรับปรุงข้อมูลสินค้าควบคุมให้เป็นปัจจุบันเพื่อใช้และจัดทำฐานข้อมูลสินค้าควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงการกำหนดระยะเวลาในการแจ้งรายการสินค้าควบคุมในกรณีที่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกข้อมูลรายการสินค้าควบคุม เพื่อให้มีการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์
3.2 ความเห็นและประเด็นอภิปราย การกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติฯ จะเป็น การสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์กับระบบ NSW ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.3 มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการของกรอบแนวทางปฏิบัติฯ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ NSW พิจารณาจัดทำกฎระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก การแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกข้อมูลรายการสินค้าควบคุม และนำเสนอ กบส. ต่อไป
4. ความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมติ กบส. ครั้งที่ 2/2563
ประเด็น |
มิติ กบส. |
|
- การชะลอการบังคับให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังและการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) โดยท่าเรือแหลมฉบังได้จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยศึกษาโครงสร้างต้นทุนการขนส่งสินค้าชายฝั่งของท่าเรือแหลมฉบังแล้ว |
มอบหมายให้ คค. เร่งรัดและติดตามการดำเนินการของ การท่าเรือแห่งประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 (เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนในธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้อง) และรายงานกบส. ต่อไป |
|
- การบรรเทาปัญหาจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้อนุญาตให้เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (ไม่เกิน 400 เมตร) สามารถเข้ามาขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือไทยได้ รวมทั้งมีการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาจำนวนหนึ่งแล้ว |
มอบหมายให้ คค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการนำเรือขนาดความยาวไม่เกิน 400 เมตร เข้าเทียบท่าได้อย่างต่อเนื่อง |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7380
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ