แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาวและเมียนมา) เพื่อให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไป ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 20:41
- Hits: 15516
แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาวและเมียนมา) เพื่อให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไป ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไป ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ดังนี้
1. การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 สำหรับคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ปัจจุบันได้รับใบรับคำขอ (บต. 23) และใบเสร็จรับเงิน ทั้งนี้ หมายรวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แล้ว
2. การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานต่อไป เพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงาน ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพและขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป โดยที่คนต่างด้าวต้องมีเอกสารเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือไม่เกิน 2 ปี นับจากการอนุญาตเดิมสิ้นสุด ตามแต่ละกรณี ดังนี้
2.1 คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ประสงค์จะทำงานต่อไปไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
2.2 คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ประสงค์จะทำงานต่อไปไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
2.3 คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ประสงค์จะทำงานต่อไปไม่เกิน 2 ปี นับแต่ที่การอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด
2.4 คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลง โดยผลของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หรือก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ ที่ประสงค์จะทำงานต่อไปไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ ไม่หมายรวมถึงคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่มีแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 แล้ว
2.5 ผู้ติดตามที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวตาม ข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.4 ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 หรือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แล้ว
ทั้งนี้ ในการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวดังกล่าว สามารถประกันสุขภาพได้กับสถานพยาบาลของรัฐตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยในประเทศ ตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด
3. การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.1 กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ ดังนี้
1) ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 2.1 รวมถึงผู้ติดตามที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 แล้ว อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพ และขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และมิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ......
2) ออกประกาศปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อนุญาตให้คนต่างด้าว ตามข้อ 1 รวมถึงผู้ติดตามที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แล้ว สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 และอนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 2.2 รวมถึงผู้ติดตามที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แล้ว สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดำเนินการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และมิให้นำมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่งด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..)
3) ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ 2.3 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพ และขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป โดยที่คนต่างด้าวต้องมีเอกสารเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานไม่เกิน 2 ปีนับจากการอนุญาตเดิมสิ้นสุด และมิให้นำมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะเพื่อการทำงาน สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ ..)
4) ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งใบอนุญาตทำงานและสิทธิในการทำงานสิ้นสุดลง โดยผลของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 13 กรกฏาคม 2564 หรือก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพ และขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 กรกฏาคม 2565 เพื่อให้ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ให้รวมถึงผู้ติดตามที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 หรือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แล้วแต่กรณีด้วย และมิให้นำมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างต้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ซึ่งใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่......
3.2 กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ ดังนี้
1) ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อนุญาตให้คนต่างต้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งประสงค์จะทำงานต่อไป อนุญาตให้ทำงานดังนี้
(1) การอนุญาตให้ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 สำหรับคนต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยต้องดำเนินการขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 30 กันยายน 2564
(2) การอนุญาตให้ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 สำหรับคนต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยต้องดำเนินการขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565
โดยการขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานตามข้อ (1) หรือ (2) ให้คนต่างด้าวยื่นคำขออนุญาตทำงาน และให้กรมการจัดหางานพิจารณาอนุญาตทำงานไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และกรมการจัดหางานจะจัดส่งข้อมูลการอนุญาตทำงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อที่แต่ละหน่วยงานจะได้พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้าง และเฉพาะคนต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเลให้สามารถเพิ่มนายจ้างในกิจการดังกล่าวได้ รวมแล้วไม่เกิน 3 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูขา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่………
2) ออกประกาศปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างต้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 อนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร หรือใบรับคำขอ (บต. 23) และใบเสร็จรับเงินที่เสมือนใบอนุญาตทำงาน ที่ผ่านการตรวจสุขภาพแล้ว ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป โดยให้ยื่นคำขออนุญาตทำงาน พร้อมทั้งชำระคำธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 และให้นายทะเบียนอนุญาตทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 รวมถึงได้รับการยกเว้นเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้าง และเฉพาะคนต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเลให้สามารถเพิ่มนายจ้างในกิจการดังกล่าวได้ รวมแล้วไม่เกิน 3 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ ..)
3) ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อนุญาตให้คนต่างต้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งใบอนุญาตทำงานและสิทธิในการทำงานสิ้นสุดลง โดยผลของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หรือก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ สำหรับคนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานต่อไป ทั้งนี้ไม่หมายรวมถึงคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยให้ยื่นขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน และให้กรมการจัดหางานพิจารณาอนุญาตทำงานไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ นายจ้างหรือคนต่างด้าวต้องนำส่งใบรับรองผลการตรวจสุขภาพและหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปให้กรมการจัดหางานภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รวมถึงให้คนต่างด้าวได้รับการยกเว้นเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้าง และเฉพาะคนต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเลให้สามารถเพิ่มนายจ้างในกิจการดังกล่าวได้ รวมแล้วไม่เกิน 3 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาซึ่งใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลง โดยผลของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
4) ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างต้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้าง โดยปรับเปลี่ยนระยะเวลาการดำเนินการหานายจ้างรายใหม่จากภายใน 30 วัน เป็น 60 วัน นับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างรายเดิม สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หรือวันที่ประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสภาวะทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การยกเว้นและกำหนดเงื่อนไขการทำงานกับนายจ้างรายใหม่ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
5) ออกกฎกระทรวงการขอใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน การออกใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน การต่ออายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน การกำหนดหลักประกันและการคืนหลักประกันในการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข่ในการขออนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน การออกใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน การต่ออายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน การกำหนดหลักประกัน และการคืนหลักประกันในการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เพื่อให้การนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศตามหมวด 3 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สอดคล้องกับสภาวะทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวงการขอใบอนุญาตนำคนต่างด้าว มาทำงาน การออกใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน การต่ออายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน การกำหนดหลักประกัน และการคืนหลักประกันในการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. ....
3.3 กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตรวจสุขภาพ ให้กับคนต่างด้าว รวมถึงผู้ติดตามที่เป็นบุตรของคนต่างด้าว ดังนี้
1) คนต่างด้าวตามข้อ 1. ข้อ 2.2 และข้อ 2.5 ให้ดำเนินการตรวจสุขภาพ กับสถานพยาบาลของรัฐตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
2) คนต่างด้าวตามข้อ 2.1 ข้อ 2.3 และข้อ 2.4 ให้ดำเนินการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
ทั้งนี้ คนต่างด้าวตามข้อ 1) และคนต่างด้าวตามข้อ 2) ที่ทำงานกับนายจ้างที่กิจการไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือคนต่างด้าวตามข้อ 2) ที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ซึ่งผ่านการตรวจสุขภาพ ให้ประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เว้นแต่คนต่างด้าวดังกล่าวได้ทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยในประเทศแล้ว
3.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ดังนี้
1) คนต่างด้าวตามข้อ 2.1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.4 และ ข้อ 2.5 ที่ถือหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารเดินทาง หรือ เอกสารรับรองบุคคล หรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางที่มีอายุเหลืออยู่ โดยตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
ในกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุให้คนต่างด้าวดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อใช้ในการขอรับการย้ายรอยตราประทับและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ คนต่างด้าวตามข้อ 2.5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร โดยระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินวันที่คนต่างด้าวมีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์ หากคนต่างด้าวดังกล่าวประสงค์จะอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานให้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตทำงาน และแก้ไขทะเบียนประวัติพร้อมยกเลิกรอยประทับตรา รหัส O (L-A) โดยให้ประทับตราอนุญาตประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส L-A ภายในหกสิบวันก่อนมีอายุครบสิบแปดบีบริบูรณ์ และตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
2) คนต่างด้าวตามข้อ 2.3 ที่ถือหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารเดินทาง หรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางที่มีอายุเหลืออยู่ โดยตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปเพื่อทำงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เมื่อคนต่างด้าวดังกล่าว อยู่ในราชอาณาจักรครบกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตแล้วหากประสงค์จะอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปอีก เพื่อการทำงานให้ขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรได้อีกเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เมื่อนับรวมกันแล้วได้ไม่เกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ ในกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุให้ คนต่างด้าวดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อใช้ในการขอรับการย้ายรอยตราประทับและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป รวมกันแล้วได้ไม่เกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตทำงาน
4. กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนและ ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามข้อ 1 รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565
ทั้งนี้ คนต่างด้าวตามข้อ 2 ให้กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
5. การพิจารณาให้ความเห็นชอบ สถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคล (Certicate of Identiy: CI ของทางการเมียนมา ในประเทศไทย จำนวน 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดละ 1 แห่ง โดยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองร่วมดำเนินการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป และกรมการจัดหางานร่วมดำเนินการอนุญาตทำงาน ภายในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ทั้งนี้ ให้ทางการเมียนมาดำเนินการได้ในโอกาสแรกนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบจนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้คนสัญชาติเมียนมา สามารถมีเอกสารรับรองบุคคล ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุได้ภายในกำหนดเวลาวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 หากทางการเมียนมาร้องขอสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่การออกเอกสารรับรองบุคคล ให้ทางการเมียนมามีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยให้กรมการจัดหางานนำเรียนคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ
6. หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษแล้ว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7378
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ