มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 20:24
- Hits: 16283
มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ในพื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุด ตามที่กำหนดไว้ทดแทนแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564
2. เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รับไปพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ให้ครอบคลุมจำนวนเงินที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม พื้นที่ และกิจการตามหลักการที่กำหนดไว้ และเร่งลงทะเบียนกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการตามหลักการที่กำหนดไว้ โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรให้กระทรวงมหาดไทยให้ความช่วยเหลือกระทรวงแรงงานในการตรวจสอบผู้ที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต่อไป
3. เห็นชอบในหลักการของมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) ของประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศตามที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบ (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค) ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต่อไป
4. เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัด เพื่อกำหนดแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อาทิ พิจารณาให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองตามความจำเป็นและความเหมาะสม พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำข้อเสนอโครงการในลักษณะที่กำหนดให้รัฐร่วมสมทบภาระส่วนลดให้แก่สถานศึกษาบางส่วนโดยให้รายงานข้อสรุป แนวทางการดำเนินการ และวงเงินที่จะใช้ดำเนินการภายใน 1 สัปดาห์ และเร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนโดยเร็ว
5. เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินที่จะช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่นอกการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามการดำเนินงานของสถาบันการเงินตามมาตรการที่กำหนดอย่างใกล้ชิด และกำหนดช่องทางการร้องเรียนของประชาชนในกรณีที่สถาบันการเงินไม่ให้ความร่วมมือในการบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนข้างต้น เพื่อให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการอื่นๆ ต่อสถาบันการเงินดังกล่าวต่อไป
สาระสำคัญ
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) เพิ่มเติมจากมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ซึ่งสามารถแบ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย
1.1 การให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) (ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 27) รวม 10 จังหวัด
1) หลักการการให้ความช่วยเหลือ
1.1) กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ขยายการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบและนอกระบบในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
1.2) ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ ขยายประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบ (ตามหมวดที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด) จากเดิม 4 สาขา ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ เพิ่มเติมเป็น 9 สาขา โดยเพิ่มเติมสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
1.3) ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 1 เดือน
1.4) เป้าประสงค์ของมาตรการ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย เข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อให้ผู้ที่ประกอบอาชีพมีหลักประกันทางสังคมในระยะยาว และภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤตที่ครอบคลุมผู้ที่ประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
2.1) กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม ดังนี้
(1) กลุ่มแรงงานตามมาตรา 33 สัญชาติไทยตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1) จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามหลักการข้อ 1) จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท
(2) ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1 จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน
(3) ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 สัญชาติไทย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1) ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
2.2) ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สัญชาติไทย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1) ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน ให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท ต่อคน จำนวน 1 เดือน
2.3) กลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1 ที่มีลูกจ้างแต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ทั้งนี้ ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวจะยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม
(2) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้เตรียมหลักฐานสำหรับการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
(3) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จะขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” จากเดิมที่กำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการ และกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) โดยให้ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ให้ดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40
เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ที่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับข้อ 2.3) (1) ได้
โดยในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในระยะเร่งด่วนจะมีกรอบวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รับไปพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ให้ครอบคลุมจำนวนเงินที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม พื้นที่ และกิจการตามที่กำหนดเพิ่มเติม และเร่งลงทะเบียนกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการตามหลักการที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ต่อไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานกำหนดกลไกการตรวจสอบผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และให้จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคารต่อไป
1.2 การให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่
1) มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ ดังนี้
1.1) ค่าไฟฟ้า เสนอให้สิทธิส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้
(1) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
(2) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
- กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
- กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ (2.1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (2.2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตราร้อยละ 50 และ (2.3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
(4) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ได้รับยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวจ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จ่ายจริง
ทั้งนี้ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม 2564
1.2) ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2564
ทั้งนี้ เห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบ (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค) ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต่อไป
2) มาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้สถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติได้ ส่งผลให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาผ่านรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประกาศให้สถานศึกษาภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองตามความจำเป็นและความเหมาะสมแล้ว
ดังนั้น เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตรการดังกล่าวมีความครอบคลุมสถานศึกษาของเอกชนด้วย จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อาทิ พิจารณาให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองตามความจำเป็นและความเหมาะสม พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำข้อเสนอโครงการในลักษณะที่กำหนดให้รัฐร่วมสมทบภาระส่วนลดให้แก่สถานศึกษาบางส่วน เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนโดยเร็วต่อไป โดยให้รายงานข้อสรุปแนวทางการดำเนินการและวงเงินที่จะใช้ดำเนินการภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ ในกรณีที่สถานศึกษาภาคเอกชนประสบปัญหาทางการเงิน เห็นควรให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวบรวมข้อมูลปัญหาและความต้องการดังกล่าวและหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเงินให้แก่สถานศึกษาภาคเอกชนที่มีความเหมาะสมต่อไป
3) มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3.1) ที่ผ่านมาภาครัฐจะได้มีการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” พ.ศ. 2563 ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจตามที่กำหนด และได้กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จัดให้มีสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งมาตรการพักชำระหนี้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว
3.2) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) เพื่อจำกัดและควบคุมกิจกรรมและการเดินทางระหว่างจังหวัดที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีประชาชนและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้น จนอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ทั้งในส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินตามเงื่อนไขของสัญญาได้ ดังนั้น จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินที่จะช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่นอกการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน
ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามความก้าวหน้าของมาตรการทางการเงินข้างต้นกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด และกำหนดช่องทางการร้องเรียนของประชาชนในกรณีที่สถาบันการเงินไม่ให้ความร่วมมือในการบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนข้างต้น เพื่อให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการอื่นๆ ต่อสถาบันการเงินดังกล่าวต่อไป
2. มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เหมาะสม ได้แก่ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในลักษณะมุ่งเป้าได้ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างดำเนินการลงทะเบียนในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งมอบหมายให้ สศช. ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามความเหมาะสมต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7376
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ