กรอบเจรจาของไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 20:07
- Hits: 15342
กรอบเจรจาของไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อกรอบเจรจาของไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ดังนี้
(1) ห้ามให้การอุดหนุนการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)
(2) ให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนแก่ภาคประมงได้ต่อไปหรือไม่
(3) ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: SDT) แก่ประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงไทย)
2. หากในการประชุมดังกล่าวมีการเสนอถ้อยคำหรือจัดทำเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของสมาชิกองค์การการค้าโลกในระดับนโยบายที่สอดคล้องกับหลักการต่อกรอบเจรจาของไทย ฯ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมการเจรจา หรือรับรองเอกสารที่สอดคล้องตามหลักการ ข้อ 1. และ ข้อ 2. ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (เอกสารหมายเลข TN/RLW/276/Rev.1) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกใช้เป็นพื้นฐานในการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรี เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงผ่านระบบการประชุมออนไลน์ประกอบไปด้วย 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
1. ห้ามการอุดหนุนประมงที่ให้แก่เรือประมงหรือผู้ประกอบการประมงหลังจากถูกตัดสินว่าทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเพื่อกำจัดปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
2. ห้ามให้การอุดหนุนประมงในพื้นที่ที่ทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอและไม่อยู่ในระดับที่ยั่งยืน (Overfished Stocks) เพื่อไม่ให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเสื่อมโทรมลงไปอีก
3. ห้ามให้การอุดหนุนประเภทที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพ (Overcapacity) หรือการทำประมงที่เกินชนาด (Overfishing) อาทิ การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเรือประมง การอุดหนุนเพื่อปรับปรุงเครื่องมือทำการประมงจนมีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำมากเกินไป การอุดหนุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้เรือประมงสามารถออกทำประมงและจับสัตว์น้ำได้มากเกินกว่าปกติ
4. ประเด็นอื่นๆ อาทิ การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: SDT) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) และการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement) ภายใต้ความตกลง
ทั้งนี้ การจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกฎระเบียบในการอุดหนุนประมงของสมาชิกองค์การการค้าโลกเพื่อห้ามให้การอุดหนุนที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ และรักษาความยั่งยืนของสัตว์น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการและท่าทีของไทยที่มีการปฏิรูปกฎหมายด้านการประมงตั้งแต่ปี 2558 จนมีประสิทธิภาพในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และมีการประเมินทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในระดับที่ยั่งยืน ดังนั้น การจัดทำความตกลงดังกล่าวเป็นการสานต่อการผลักดันท่าทีไทยต่อการห้ามอุดหนุนที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7374
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ