องค์ประกอบและท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 20:05
- Hits: 15028
องค์ประกอบและท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อการกำหนดท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
1. รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ กรณีที่คณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติมีการเสนอให้พื้นที่ฯ เป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย หรือมีประเด็นสุ่มเสี่ยง ให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยดำเนินการชี้แจงและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาให้เห็นถึงการดำเนินการของราชอาณาจักรไทยในการให้ความสำคัญต่อการดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ฯ ให้คงคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลอย่างยั่งยืน และไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
2. การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน หากคณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติไม่มีผลดีต่อไทยในการนำเสนอพื้นที่ฯ เป็นแหล่งมรดกโลก เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทย ชี้แจงทำความเข้าใจและโน้มน้าว คณะกรรมการมรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา และศูนย์มรดกโลก เกี่ยวกับสถานการณ์ และวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และสนับสนุนราชอาณาจักรไทยในการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก รวมทั้ง ขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในอนาคต
3. รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา (หากมี) กรณีที่คณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติมีผลกระทบทางลบต่อการดำเนินงานของราชอาณาจักรไทย หรือสุ่มเสี่ยงต่อการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย ให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยดำเนินการชี้แจงและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษา ให้เห็นถึงการดำเนินการในการให้ความสำคัญต่อการดูแลและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก และการดำเนินการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง
4. กรณีมีประเด็นอื่นที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยใน การพิจารณากำหนดท่าทีในประเด็นนั้นๆ ทั้งนี้ ให้คณะผู้แทนไทยพิจารณาร่วมกันระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 โดยคำนึงถึงหลักการของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และข้อมูลด้านเทคนิคและวิชาการจากองค์กรที่ปรึกษา
5. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44
1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษา
2) นายสีหศักดิ์ พวงเหตุแก้ว ทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการมรดกโลกและหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
3) ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการดำรงตำแหน่งกรรมการมรดกโลก วาระปี พ.ศ. 2562 – 2566
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้พิจารณาองค์ประกอบและท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่จะมีขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกลเต็มรูปแบบ ในระหว่างวันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2564 ได้แก่ (1) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทย และ (2) ท่าทีของราชอาณาจักรไทยต่อการพิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ และนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (หากมี) ซึ่งเป็นการรายงานผลการดำเนินงานตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 41 และ 43 ตามลำดับ และการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 มีมติให้ส่งกลับเอกสาร (Referral) เพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆ โดยที่ประชุมมีมติ สรุปได้ ดังนี้
1. เห็นชอบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ดังนี้
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษา
(2) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการมรดกโลกและหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
(3) ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการดำรงตำแหน่งกรรมการมรดกโลก วาระปี พ.ศ. 2562 - 2566
2. รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก
2.1 พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการติดตามจากศูนย์มรดกโลก และสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงทำให้คณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 36 - 38 พิจารณาเห็นว่าปัญหาการบุกรุกพื้นที่ถือเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งต่อพื้นที่ฯ และเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้มีการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าปัญหาคุกคามดังกล่าว ได้รับการแก้ไข รวมทั้ง ไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่ฯ ส่งผลให้พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตรายในเวลาต่อมาและการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกที่จะมีขึ้นในครั้งนี้เป็นการพิจารณารายงานตามข้อมติของคณะกรรมการฯ ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 41 ที่ขอให้จัดส่งรายงานที่เป็นปัจจุบัน และความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ปี พ.ศ. 2557 - 2562 ต่อศูนย์มรดกโลก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก พิจารณาในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ซึ่งรายงานดังกล่าวคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วในการประชุม ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ก่อนจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก
การเตรียมการด้านท่าที กรณีที่คณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติมีการเสนอให้พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย หรือมีประเด็นสุ่มเสี่ยง ขอให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยดำเนินการชี้แจงและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาให้เห็นถึงการดำเนินการของราชอาณาจักรไทยในการให้ความสำคัญต่อการดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ฯ ให้คงคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลอย่างยั่งยืน และไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
2.2 นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา การรายงานสถานภาพการอนุรักษ์ฯ เป็นการรายงานตามข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ที่ขอให้จัดส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกฉบับปรับปรุง รวมถึงแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาฉบับปรับปรุง และประกาศระเบียบและขั้นตอน การขออนุญาตก่อสร้างอาคารในพื้นที่แหล่งมรดกโลกฉบับปรับปรุง ต่อศูนย์มรดกโลก เพื่อให้องค์กรที่ปรึกษาตรวจสอบ ซึ่งรายงานดังกล่าวคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้พิจารณาให้ความเห็นต่อการปรับแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ก่อนจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก แล้ว โดยขณะนี้มีประเด็นเพิ่มเติมจากข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่อยู่ระหว่างการติดตามของศูนย์มรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษา คือ การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีรถไฟอยุธยา ซึ่งศูนย์มรดกโลกเห็นว่าเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง และได้มีหนังสือขอรับทราบการดำเนินการโครงการดังกล่าวและเสนอแนะให้ดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (HIA)
การเตรียมการด้านท่าที กรณีที่คณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติมีผลกระทบทางลบต่อการดำเนินงาน หรือสุ่มเสี่ยงต่อการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย ขอให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยดำเนินการชี้แจงและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษา ให้เห็นถึงการดำเนินการในการให้ความสำคัญต่อการดูแลและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกและการดำเนินการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง
3. การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 39 (พ.ศ. 2558) ครั้งที่ 40 (พ.ศ. 2559) และครั้งที่ 43 (พ.ศ. 2562) คณะกรรมการมรดกโลก มีมติให้ส่งกลับเอกสาร (Referral) และขอให้ราชอาณาจักรไทยดำเนินการในด้านต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารข้อมูลเพิ่มเติม (Additional Information) ที่จัดส่งต่อศูนย์มรดกโลก ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ก่อนจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลกแล้ว โดยการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก เป็นการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ทรัพยากรทางบก ประเด็นปฏิรูปที่ 1.5 ผลักดันพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นมรดกโลก ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก (พ.ศ. 2561 – 2565)
การเตรียมการด้านท่าที กรณีที่คณะผู้แทนไทยเห็นว่า (ร่าง) ข้อมติไม่มีผลดีต่อการ นำเสนอฯ เห็นชอบให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ชี้แจงทำความเข้าใจ และโน้มน้าว คณะกรรมการมรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา และศูนย์มรดกโลก เกี่ยวกับสถานการณ์ และวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานและสนับสนุนราชอาณาจักรไทยในการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก รวมทั้งขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคต
4. กรณีมีประเด็นอื่นที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการพิจารณากำหนดท่าทีในประเด็นนั้นๆ ทั้งนี้ ให้คณะผู้แทนไทยพิจารณาร่วมกันระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 โดยคำนึงถึงหลักการของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และข้อมูลด้านเทคนิคและวิชาการจากองค์กรที่ปรึกษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7373
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ