ความเห็นและข้อเสนอแนะตามรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและ การประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (ยธ.)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 July 2021 21:44
- Hits: 10240
ความเห็นและข้อเสนอแนะตามรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและ การประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (ยธ.)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะตามรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่ง ยธ. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. กฎหมายอนุวัติการตามพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ข้อเสนอแนะ : ให้รัฐบาลปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ที่เป็นกฎหมายอนุวัติการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้เสียหายอย่างครบถ้วน |
หลักการและสาระสำคัญของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับได้แก่ อนุสัญญาฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียวคือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... แล้ว และได้พิจารณาตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายตามลำดับ โดยได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 และ ยธ. ได้ยืนยันร่างพระราชบัญญัติฯ ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ซึ่งปัจจุบัน สลค. ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันฯ ไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว |
|
2. ปัญหาสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อเสนอแนะ : ให้รัฐบาล (1) ทบทวนการประกาศใช้กฎหมายด้านความมั่นคง 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งและในระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น รวมถึงใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แทน และ (2) ปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารราชการฯ เช่น มาตรา 5 อำนาจในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรา 16 การให้ข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฯ อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง หากเนื้อหาของคดีเป็นเรื่องทางปกครอง |
การบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงยังมีความจำเป็น ต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกัน ระงับ ยับยั้ง และแสวงหาตัวผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฯ เพื่อทบทวนความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงดังกล่าวเป็นระยะ รวมทั้งมีการปรับลดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคงเหลือเพียง 27 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฯ |
|
3. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอแนะ : ให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าของคดีที่เกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิตและหายสาบสูญ และมีมาตรการคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกาย และการใช้สิทธิและเสรีภาพในการปกป้องสิทธิของตนเองและผู้อื่น |
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ได้รับความคุ้มครองตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ.2562 - 2565) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2565) โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงานร่วมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิด และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 เพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ และเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน (Strategic Litigation Against Public Participation: SLAPP) รวมถึงการบังคับใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 เพื่อให้พนักงานอัยการสามารถเสนอความเห็นต่ออัยการสูงสุดในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศได้ นอกจากนี้ ยธ. ได้แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 เพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีความเสี่ยงตกอยู่ในอันตราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยงด้วย [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 ธันวาคม 2563) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... แล้ว] |
|
4. การตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังบุคคล ข้อเสนอแนะ : ให้รัฐบาลเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลของผู้ต้องขังเพื่อให้สามารถให้บริการทางสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณาแนวทางลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมถึงจัดสรรงบประมาณและบุคลากร ตลอดจนปรับปรุงสถานที่ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ต้องขัง |
กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำแล้วตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 141 แห่ง ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเรือนจำอีก 2 แห่ง เป็นหน่วยบริการประจำ ส่งผลให้สถานพยาบาลเรือนจำดังกล่าวได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานร่วมกันกับโรงพยาบาลแม่ข่ายและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งได้มีการจัดทำระบบการลงทะเบียนสิทธิผู้ต้องขัง ซึ่งทำให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น กระทรวงกลาโหม ยธ. ตช. สำนักงานศาลยุติธรรมได้ร่วมกันส่งเสริมมาตรการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอนเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ |
|
5. การคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกกระทำทรมานและการเยียวยา ข้อเสนอแนะ : ให้รัฐบาลขยายประเภทความผิดที่ผู้เสียหายอาจร้องขอค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ให้ครอบคลุมความผิดฐานทรมาน (เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ |
ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีแผนที่จะเพิ่มเติมความผิดฐานกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้เป็นฐานความผิดท้ายพระราชบัญญัติค่าตอบแทนฯ เพื่อให้ผู้เสียหายมีสิทธิได้ขอรับค่าตอบแทนฯ ได้ต่อไป ภายหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติป้องกันฯ มีผลบังคับใช้แล้ว |
|
6. เยียวยาผู้เสียหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อเสนอแนะ : ให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการให้ผู้เสียหายจากการถูกกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการชดเชยและได้รับค่าสินไหมทดแทนอย่างทั่วถึงโดยเร็ว รวมถึงควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามข้อ 2 วรรคสาม (ก) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง |
ผู้เสียหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการชดเชยเยียวยาตามนัยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 และระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 อยู่แล้ว นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเยียวยาด้านจิตใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้วย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7154
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ