ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 July 2021 20:43
- Hits: 13238
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยมีข้อเสนอแนะกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ควรดำเนินการ 4 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านกฎหมาย 2) ด้านบุคลากรและงบประมาณ 3) การประชาสัมพันธ์และการตลาด และ 4) ด้านอื่นๆ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและบูรณาการงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มสตรีหรือองค์กรผู้รับเงินทุน
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ มท. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงาน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งใหสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 และได้สรุปผลการพิจารณาในภาพรวมเกี่ยวกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1) ด้านกฎหมาย ควรเร่งผลักดันนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และควรแก้ไขกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระคืนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี |
- ปัจจุบันกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีการบริหารภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารเงินทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2559 ทำให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ |
|
2) ด้านบุคลากรและงบประมาณ ควรเพิ่มกรอบอัตรากำลังพนักงานกองทุนตำแหน่งนิติกร ควรกำหนดแนวทางในการส่งเสริมความมั่นคงในการทำงานให้กับลูกจ้างกองทุนในสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และพิจารณาทบทวนจัดสรรงบเงินอุดหนุนและเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม |
- ควรพิจารณาทบทวนจัดสรรงบเงินอุดหนุนและเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม เนื่องจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกองทุนที่ดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไรและจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 0.10 ต่อปี ทำให้กองทุนฯ ไม่มีรายได้สำหรับใช้จ่ายในการบริหารกองทุน และการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน (เงินให้กู้ยืม) ให้กับสมาชิก โดยเฉพาะการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น จึงมีสมาชิกที่ต้องการประกอบอาชีพเข้ามาเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มมากขึ้นทำให้งบประมาณที่จัดสรรให้กับจังหวัดไม่เพียงพอ |
|
3) ด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาด ควรมีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องและมากขึ้น รวมทั้งการให้ความรู้ในการเขียนและเสนอโครงการ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในสถาบันการศึกษา เพื่อให้เยาวชนสตรีได้รับทราบและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนและกรมการพัฒนาชุมชนควรร่วมมือกับ พม. กษ. รง. พณ. และ อก. ในการจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางการตลาด |
- จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พณ. มีบทบาทในการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับประชาชนที่สนใจทำการค้า และจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านการตลาดให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น อก. ดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและตลาดที่เหมาะสม โครงการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสู่การประกอบการอย่างมืออาชีพ โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่สากล |
|
4) ด้านอื่นๆ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและบูรณาการงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มสตรีหรือองค์กรผู้รับเงินทุน กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน และสร้างความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบ วิธีการ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียดและต่อเนื่อง |
- เสริมสร้างประสิทธิภาพและขีดความสามารถของกลุ่มสตรีหรือองค์กร ผู้รับเงินทุน และสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในกฎระเบียบ วิธีการ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงาน รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7150
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ