รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 July 2021 20:27
- Hits: 10158
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2564 และแนวโน้ม ไตรมาสที่ 2/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 4/2563 ที่หดตัวร้อยละ 1.6 ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากผลของฐานต่ำในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 1/2564 อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการสินค้า โดยได้รับอานิสงส์จากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ โดยเฉพาะยานยนต์และการก่อสร้าง เม็ดพลาสติก ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายหนึ่งหยุดซ่อมบำรุงประจำปีน้อยกว่าปีก่อน เฟอร์นิเจอร์ ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคคิด-19 ทำให้ยังมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เนื่องจากยังมีการทำงานแบบ Work from Home ส่งผลดีต่อการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ การผลิตรถยนต์ ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีก่อนอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกโดยกระทบทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก รวมถึงในปีนี้ตลาดส่งออกมีการขยายตัวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากความชัดเจนของมาตรการวัคซีนโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศเริ่มทยอยออกมา การผลิตน้ำตาล ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้ปิดหีบช้ากว่าปีก่อน นอกจากนี้ แม้ว่าในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ด้วยผลผลิตอ้อยสดที่มีคุณภาพ การหีบสกัดเป็นน้ำตาลได้สูงขึ้น ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยโดยเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบในเดือนเมษายน 2563 ที่ต่ำ ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดในระลอกแรก รวมถึงในปีนี้การส่งออกมีการขยายตัวได้ดี
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนเมษายน 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
1. รถยนต์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 288.06 จากการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตค่ายต่างๆ หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีก่อน
2. การผลิตเบียร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 515.18 เนื่องจากสงกรานต์ปีนี้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ แม้ว่าจะมีการควบคุมในบางพื้นที่ ประชาชนสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาและสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับไปบริโภคที่บ้านได้
3. เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.38 จากฐานต่ำในปีก่อนจากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ หลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่องทางการจำหน่วยในห้างสรรพสินค้าถูกปิด ส่วนปีนี้มีการพัฒนาสินค้าสอดคล้องกับความต้องการและจัดรายการส่งเสริมการขายทำให้การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ประเทษคู่ค้าคลี่คลายและสามารถทำการส่งออกได้ตามปกติ
4. เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.23 จากฐานต่ำ ตามความต้องการใช้ที่หดตัวและลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อจากการล็อกดาวน์ประเทศหลังการแพร่ระบาดในปีก่อน และมีผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวในปีก่อน รวมถึงในปีนี้การผลิตเพิ่มขึ้นตามการปรับฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
5. ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.74 จากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศและต่างประเทศในปีก่อน ทำให้ลูกค้าหลักชะลอคำสั่งซื้อ และมีผู้ผลิตหยุดซ่อมบำรุงในปีก่อน
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ ไตรมาสที่ 2/2564
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ได้แก่ ราคาเหล็กในตลาดโลกและในประเทศที่ปรับตัวที่สูงขึ้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า ดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 3.0 และ 5.0 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดส่งออกโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 รวมทั้งการขยายโครงข่ายและพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G และ IoT ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษในยุค New Normal จะขยายตัวค่อนข้างมาก และยังได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับส่งสินค้าทางออนไลน์
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเนื่องจากวัตถุดิบซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริโภคในตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน อเมริกา และยุโรป มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7143
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ