ยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศระหว่างประเทศไทยและธนาคารพัฒนาเอเชีย ฉบับที่ 3 สำหรับปี 2564-2568
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 July 2021 19:35
- Hits: 12734
ยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศระหว่างประเทศไทยและธนาคารพัฒนาเอเชีย ฉบับที่ 3 สำหรับปี 2564-2568
คณะรัฐมนตรีรับทราบยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศระหว่างประเทศไทย (ไทย) กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank ADB) (ยุทธศาสตร์ฯ) ฉบับที่ 3 สำหรับปี 2564-2568
โดยคณะกรรมการบริหาร ADB ได้มีมติรับรองยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 แล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างไทยและ ADB ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒนาฯ) ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ทั้งนี้ เมื่อเผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ประกาศใช้ ADB จะได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 ให้มีความสอดคล้องกับแผนดังกล่าวต่อไป
2. วัตถุประสงค์ ประกอบด้วย
2.1 เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความเชื่อมโยง มุ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย (1) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ และการปฏิรูปภาคการเกษตร (2) การลดช่องว่างในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศการเข้าถึงบริการทางสังคม และการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้เท่าเทียมกัน และ (3) การเชื่อมโยงระดับภูมิภาคผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ
2.2 เสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย (1) การสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (2) การแบ่งปันความรู้ด้านการปรับตัวและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้แก่ภาครัฐเอกชน และชุมชนท้องถิ่น (3) การเสริมสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการลงทุนและการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ระบบขนส่งที่ยั่งยืน และเครื่องมือทางการเงิน และ (4) การเสริมสร้างประสิทธิผลของบริการสาธารณะระดับภูมิภาค เช่น การบริการด้านสุขภาพและการบริการทางสังคม
2.3 สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยสนับสนุนในประเด็นต่างๆ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศเศรษฐกิจและสังคม ความร่วมมือระดับภูมิภาค และการรับมือกับประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น สังคมผู้สูงอายุของไทย
3. แนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ เน้นการบูรณาการของภาคส่วนต่างๆ
โดยนำองค์ความรู้ของ ADB มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานของไทย สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
แนวทางการดำเนินการ |
|
การสนับสนุนโครงการที่ไม่ได้ดำเนินการโดยภาครัฐ |
ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาขนส่งและพลังงานที่ไม่ได้ดำเนินการโดยภาครัฐและสำรวจศักยภาพของสาขาใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นการขยายโอกาสการเข้าถึงเงินทุน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย รวมถึงการพัฒนาตลาดทุน |
|
การสนับสนุนโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน |
ส่งเสริมการดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) โดยให้คำปรึกษาเชิงนโยบายและความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการร่วมลงทุน |
|
การสนับสนุนโครงการที่ดำเนินการโดยภาครัฐ |
ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบโครงการเงินกู้ในไทยเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มรวมถึงการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและทั่วถึง |
|
การสนับสนุนนวัตกรรมในโครงการต่างๆ |
ส่งเสริมโครงการที่มีศักยภาพในการต่อยอดหรือขยายผลในระดับภูมิภาคและสาขาความร่วมมือที่เน้นการส่งเสริมนวัตกรรม ได้แก่ โครงการนำร่องเกษตรกรรมแนวใหม่เพื่อความยั่งยืน เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ และเทคโนโลยี ที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว |
ทั้งนี้ ADB ได้กำหนดหน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้แก่ (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาเครื่องมือทางการเงินการคลังที่รองรับการดำเนินงานตามพันธกิจได้ (2) ภาครัฐสนับสนุนในสาขาการพัฒนาด้านที่ไทยยังมีความคืบหน้าน้อย และ (3) ภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรมในภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ รวมถึงการสร้างความเสมอภาคทางสังคม
4. การพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและการฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ADB จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้สามารถฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงพัฒนาการค้าในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือที่สำคัญ เช่น แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเชีย-มาเลเชีย-ไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7137
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ