ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 01:23
- Hits: 1100
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่ด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นการขยายเวลาของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6 มาตรการ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล)
1.1 หลักการ
(1) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลเหลือร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน และไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก สำหรับเงินได้พึงประเมินจากการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าวในปีภาษี 2564 ถึง 2566
(2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา เฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลเหลือร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้จากการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าว ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี 2564 ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงรอบระยะเวลาบัญชี 2566 ที่สิ้นสุดภายในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566
(3) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเหลือร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมินสำหรับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวีหรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลซึ่งเมื่อคำนวณตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสูงกว่าร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2566 และไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(4) ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะเหลือร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลเป็นทางค้าหรือหากำไร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
1.2 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิตามข้อ 1.1 (2) ต้องไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 (การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SME สำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก)
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล)
2.1 ให้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลหักค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
2.2 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลหักค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ 2 เท่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2564 ถึงรอบระยะเวลาบัญชี 2566
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการ ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา)
3.1 หลักการ
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาสามารถหักรายจ่ายการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการซึ่งประกอบในจังหวัดดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมได้ 2 เท่า ทั้งนี้ ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด สำหรับทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง หรือเฟอร์นิเจอร์
(2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์
(3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในจังหวัดดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า
(4) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย
3.2 ลักษณะของทรัพย์สิน
(1) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ยกเว้นทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอาคารถาวรอาจะได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ก็ได้
(3) ต้องอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา ยกเว้นทรัพย์สินประเภทยานพาหนะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการขนส่งหรือการเดินทางเข้าหรือออกจังหวัดจะไม่อยู่ในจังหวัดดังกล่าวตลอดระยะเวลาก็ได้
(4) ต้องไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(5) ต้องไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(6) กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต้องนำรายจ่ายที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิไปนั้น เว้นแต่กรณีที่ขายทรัพย์สินไปหรือทรัพย์สินถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ สิทธิจะสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ขายทรัพย์สินไปหรือทรัพย์สินถูกทำลาย สูญหาย สิ้นสภาพ โดยไม่ต้องนำรายจ่ายที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก
4. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา)
4.1 หลักการ
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ โดยมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาและไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร (รอบระยะเวลาบัญชีที่อนุมัติจะเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปจะเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
4.2 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
(1) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
(2) มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา
(3) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
(4) มีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชี โดยกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังต่อไปนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(4.1) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
(4.2) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด
(4.3) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ
(4.4) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข
(4.5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
(4.6) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า
(4.7) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ
(4.8) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
(4.9) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ
(4.10) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่
(5) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(6) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(7) กรณีขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
5. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกท้องที่ไปทำงานในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา และมาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกท้องที่กับกิจการที่มีศักยภาพในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา)
5.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกท้องที่ไปทำงานในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
(1) หลักการ
ให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้และไม่ต้องนำไปรวมคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ปีภาษี 2564 ถึง 2566 ซึ่งเป็นไปตามกรณีดังต่อไปนี้
(1.1) กรณีคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้พึงประเมินนั้นแล้วต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้
(1.2) กรณีคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้พึงประเมินแล้วต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ แต่ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้โดยไม่ต้องยื่นรายการที่เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินข้างต้นด้วย
(2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
(2.1) ต้องเป็นแรงงานฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(2.2) ต้องเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาและปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวในสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา
(2.3) ก่อนเริ่มใช้สิทธิ ให้สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาแจ้งชื่อต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่นราธิวาส สำนักงานสรรพากรพื้นที่ปัตตานี หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ยะลาแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งชื่อก่อนเริ่มจ่ายเงินได้พึงประเมินครั้งแรก โดยจะใช้สิทธิได้เมื่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้รับแจ้งชื่อแล้วเท่านั้น
(2.4) กรณีไม่เคยใช้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 628) พ.ศ. 2560 ก่อนเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีภูมิลำเนาอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาและมิได้ทำงานในสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
(2.5) ในปีภาษีที่ใช้สิทธิต้องอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาไม่น้อยกว่า 180 วัน โดยต้องมีหลักฐานการอยู่อาศัยที่ได้รับการรับรองจากนายจ้างหรือเจ้าของที่พักอาศัยที่พำนักอยู่และเก็บหลักฐานนั้นไว้เพื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบ
(2.6) กรณีประสงค์จะยกเลิกการใช้สิทธิ ให้สถานประกอบกิจการแจ้งยกเลิกชื่อต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการดังกล่าวได้แจ้งชื่อไป โดยให้ยกเลิกการใช้สิทธิได้เมื่อได้แจ้งยกเลิกชื่อแล้ว
(2.7) กรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในปีภาษีใดให้สิทธิสิ้นสุดลงเฉพาะในปีภาษีนั้น
(2.8) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
5.2 มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกท้องที่กับกิจการที่มีศักยภาพในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
(1) หลักการ
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ลงทุนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาและไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาสามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับการลงทุนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาและไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาได้ 2 เท่า สำหรับการลงทุนดังต่อไปนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(1.1) การลงทุนในการจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนสามัญใหม่เพื่อประกอบกิจการในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา หรือ
(1.2) การลงทุนในการเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จัดตั้งแล้วซึ่งประกอบกิจการในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา
ทั้งนี้ เงินลงทุนต้องนำไปใช้ในการประกอบกิจการในจังหวัดดังกล่าว
(2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
(2.1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับการลงทุนไปจนกว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ลงทุนหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับการลงทุนเลิกกิจการ เว้นแต่ขายหรือโอนหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนไปก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว โดยมีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(2.2) กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิสิ้นสุดลงและต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีได้ใช้สิทธิไปนั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6952
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ