รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 01:15
- Hits: 953
รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2564 และรายงานรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ประจำปี 2563
2. พิจารณาสั่งการกำชับให้หน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงปฏิบัติตาม “แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software: ซอฟต์แวร์) และการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อลดความเสี่ยงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในหน่วยงานภาครัฐให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
และให้ พณ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ได้จัดทำรายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสำหรับภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ เป็นประจำทุกปี และประกาศผลการจัดสถานะในช่วงปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ ในการจัดสถานะดังกล่าว จะรวมถึงรายงานรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ของรอบปีก่อนหน้าด้วย โดยในปี 2563 ประเทศไทย (ไทย) ถูกจัดสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) และรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2562 ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง เป็นการละเมิดในท้องตลาด 1 แห่ง คือ ย่านพัฒน์พงษ์ และตลาดออนไลน์ 1 แห่ง คือ เว็บไซต์ www.shopee.co.th
2. สถานะของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นของสหรัฐฯ ประจำปี 2564
2.1 USTR ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีส่วนได้เสียและประเทศที่ได้รับการประเมินเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง พณ. ได้จัดทำความคิดเห็นประกอบด้วยข้อมูลความคืบหน้าและสถานะการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะในเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และยื่นต่อสำนักงาน USTR เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564
2.2 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 USTR ได้ประกาศสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สิน ทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ ประจำปี 2564 โดยไทยยังคงสถานะอยู่ในบัญชี WL ร่วมกับประเทศอื่นอีก 22 ประเทศ เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล แคนาดา สหรัฐเม็กซิโก และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และในส่วนของรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2563 USTR ได้เผยแพร่รายงานฯ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 โดยไม่มีการระบุย่านการค้าและตลาด (Physical market) ในไทยที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง แต่ยังคงระบุว่าเว็บไซต์ www.shopee.co.th เป็นตลาดออนไลน์ที่มีการละเมิดสูง ทั้งนี้ ในส่วนของย่านพัฒน์พงษ์ USTR ระบุว่า กิจกรรมการค้าในพื้นดังกล่าวเกือบทั้งหมดมีการหยุดชะงัก โดยอาจเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
3. พัฒนาการและความคืบหน้าการดำเนินการของไทย สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและ ผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ดังนี้
3.1 การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กลไกการทำงานของคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้การประสานงานในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่น
3.2 การป้องปรามการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง และปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ผ่านการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเผยแพร่สถิติการจับกุมผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลากหลายรูปแบบ
3.3 การจัดทำ “แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ” เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาครัฐ
3.4 การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงในสภาพแวดล้อมดิจิทัล และการเตรียมเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกและสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึก เสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
3.5 การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนและเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮก ว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ
3.6 การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหางานจดทะเบียนสิทธิบัตรค้างสะสม
4. ข้อกังวล/ข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ
4.1 ไทยมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ทั้งในท้องตลาดและตลาดออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด รวมทั้งการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางแพ่งใช้เวลานานและค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิได้รับไม่สมเหตุสมผล
4.2 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ ในบางเรื่อง เช่น การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี การบังคับใช้สิทธิกรณีมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ และการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยมิชอบ
4.3 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ยังมีประเด็นการกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์
4.4 ปัญหางานจดทะเบียนสิทธิบัตรยาค้างสะสม
4.5 ไทยควรมีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการนำข้อมูลผลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นความลับไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยไม่เป็นธรรม
5. พณ. เห็นว่า แม้การจัดสถานะประจำปีนี้มีผลเป็นที่น่าพอใจแต่ควรมีการพัฒนาระบบ การคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกรูปแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนการส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการกำหนดนโยบาย และมาตรการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านสาธารณสุข
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6950
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ