ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 01:12
- Hits: 2716
ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (2) ที่บัญญัติให้ สศช. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก รวมทั้งปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และคาดการณ์แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในบริบทประเทศและโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และมาตรการการพัฒนาประเทศหรือรองรับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี] มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 ประกอบด้วย
1.1 ตลาดแรงงานยังคงได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่องและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นส่งผลให้ภาคเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสถานการณ์แรงงานไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.6 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่นมาตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่สาขาการผลิตอุตสาหกรรมมีการจ้างงานลดลงร้อยละ 2.2 และการจ้างงานในภาคบริการลดลงร้อยละ 0.7 ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง โดยผู้ว่างงาน มีจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.96 สูงขึ้นอีกครั้งหลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโควิด-19 ยังมีผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 3.1 ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งสูงกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2564 ได้แก่ (1) ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการท่องเที่ยว และนักศึกษาจบใหม่ (2) ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เช่น รายได้ ทักษะแรงงาน และการขาดหลักประกันทางสังคม และ (3) การเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่จะมีผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทย ซึ่งหากภาครัฐส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแม่นยำ จะสามารถลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากความเสียหายจากภัยทางธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที
1.2 หนี้ครัวเรือนขยายตัว ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเฝ้าระวังเนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง โดยไตรมาสสี่ ปี 2563 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาสสี่ ปี 2563 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPLs) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.84 ทั้งนี้ แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูงจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ทำให้ปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม
1.3 ภาวะทางสังคมอื่นๆ เช่น (1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (2) การเฝ้าระวังการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังมีการลักลอบจำหน่ายโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก (3) คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 คดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมผ่านเทคโนโลยีด้วย (4) การเกิดอุบัติเหตุทางบกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 โดยสาเหตุหลักยังคงเกิดจากตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมในการขับเร็ว เมาแล้วขับ และ (5) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการโฆษณา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นการโฆษณาเกินจริง รวมทั้งมีการระบาดของแอปพลิเคชันเงินกู้ที่จะต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขออนุมัติเงินกู้และจะต้องยินยอมให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่อาจทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลมีการรั่วไหล
2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่
2.1 สังคมไร้เงินสดในบริบทของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการชำระเงินส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบไร้เงินสดมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และภาครัฐ อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังว่าอาจสูญเสียความเป็นส่วนตัวและอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ระมัดระวังจากความสะดวกรวดเร็วของการทำธุรกรรม ทั้งนี้ ควรส่งเสริมและแก้ไขข้อจำกัดในการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบไร้เงินสด เช่น สนับสนุนให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ เสริมสร้างการมีทักษะความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล และมีกลไกติดตามดูแลรักษาฐานข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รัดกุมทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
2.2 กัญชา : โอกาสใหม่ที่ต้องควบคุมอย่างเหมาะสม โดยที่กัญชามีโอกาสเป็น พืชเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่าราว 3,600 - 7,200 ล้านบาท และการปลดล็อคกัญชาทำให้องค์ประกอบของกัญชาบางส่วนสามารถใช้ในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การกำหนดสัดส่วนการใช้กัญชาในทางการแพทย์และการพาณิชย์ที่ชัดเจน และการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ แม้ว่าประโยชน์ของกัญชาจะมีมากและอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศก็ควรให้ความสำคัญกับ การบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างเหมาะสม รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนและกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม
2.3 การคืนเด็กดีสู่สังคม : แนวทางการสร้างโอกาสและการยอมรับ ในปี 2563 เด็กที่ ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจมีจำนวนทั้งสิ้น 19,470 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ รองลงมาเป็นฐานความผิดอื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 รวมทั้งปัญหาการกระทำผิดซ้ำของเด็กซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอัตราการกระทำผิดซ้ำหลังจากถูกปล่อยตัวไปในรอบ 1 ปี ดังนั้น จึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี สนับสนุนให้เข้าสู่ระบบการศึกษา ส่งเสริมการมีงานทำที่มั่นคง และพัฒนาระบบให้คำปรึกษา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ
3. บทความเรื่อง “การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของประเทศไทย” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนา/ผลิตวัคซีนภายในประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอต่อการป้องกันโรคแก่ประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบาย การบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้เกิดการระดมทรัพยากรและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6949
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ