ขอความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 00:44
- Hits: 7426
ขอความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รภ.) เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ ด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการ และ ให้เร่งดำเนินการตามร่างแผนฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว
สาระสำคัญของเรื่อง
รภ. รายงานว่า
1. รภ. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2561 - 2564) และเสนอต่อ สศช. เพื่อพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 ธันวาคม 2560 15 ธันวาคม 2563 และ 27 ธันวาคม 2564 โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
1.1 ในคราวประชุมราชบัณฑิตยสภา ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2561 - 2564)
1.2 รภ. ได้เสนอ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2561 - 2564) ต่อ สศช. ซึ่งในคราวประชุมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยให้ รภ. ปรับปรุง ในประเด็นต่างๆ เช่น (1) การกำหนดวิสัยทัศน์เรื่องภาษาควรมีความชัดเจนว่าจะพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่ใช้สองภาษา (bilingual) หรือไม่ (2) ควรปรับชื่อเป็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้าน ... และระยะเวลาของแผนฯ ให้สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับห้วงเวลาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (3) ควรเพิ่มเติมประเด็นการยกระดับภาษาไทยในมิติต่างๆ โดยควรเน้นไปที่การรู้หนังสือในระดับที่สามารถใช้การได้จริงมากกว่าเพียงการอ่านออกเขียนได้ (4) ควรทำให้ภาษาไทยก้าวทันบริบทการเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มเติมในการนิยามของคำศัพท์สมัยใหม่ (5) แนวทางการเรียนการสอนภาษาไทย - ภาษาท้องถิ่น ควรมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่และความต้องการของผู้เรียน (6) การอนุรักษ์ การสร้างความภูมิใจ และการสร้างความเข้าใจในภาษาท้องถิ่น ควรส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดออกมาในหลายรูปแบบ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ เป็นต้น
1.3 รภ. ได้ปรับเปลี่ยนเป็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) และปรับปรุงประเด็นต่างๆ ตามข้อคิดเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ซึ่ง สศช. ได้นำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วในการประชุม ครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 และมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมให้ รภ. นำไปปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น (1) การพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็น bilingual ควรกำหนดทิศทางการพัฒนาในแผนให้ชัดเจนว่าประเทศไทยควรเลือกภาษาต่างประเทศใดเป็นภาษาที่ 2 ที่จะเป็นจุดคานงัดให้กับประเทศ โดยควรกำหนดแนวทางดังกล่าวและดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2564 (2) การใช้ภาษาแม่เป็นฐานควรอยู่บนหลักการของความสมดุลระหว่างภาษาไทยและภาษาถิ่น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการเสนอแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
แนวคิด |
กรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ คือ “ภาษาเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน” ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ภาษาเพื่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชุมชนและความสมานฉันท์ของคนในชาติ 2) ภาษาเพื่อการรับรู้ เข้าใจ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 3) ภาษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการพัฒนากรอบแนวคิดนี้คือ การใช้ภาษาแม่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการ และเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เนื่องจากสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์โดยไม่ละเลยการใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส |
วิสัยทัศน์ |
“รู้ใช้-รู้รักษ์ภาษาไทย เปิดใจรับสิทธิทางภาษา พัฒนาทักษะภาษาระดับสากล สู่สังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน” |
วัตถุประสงค์ |
1) เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของภาษาที่แสดงออกถึงชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย 2) เพื่อธำรงรักษาภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนและสร้างความเป็นเอกภาพให้แก่ประเทศไทย 3) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการใช้ภาษาไทยให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคมไทยให้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจอันดี 4) เพื่อส่งเสริมการใช้และพัฒนาภาษาท้องถิ่นให้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่เด็กและเยาวชน 5) เพื่อยกระดับวิชาชีพการแปล การทำงานล่าม และล่ามภาษามือให้เป็นมาตรฐาน 6) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านให้แก่คนไทย |
เป้าหมาย |
คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษา เห็นคุณค่า และยอมรับความแตกต่างของภาษาและสังคมวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุขและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายรองรับคือ 1) ภาษาไทยได้รับการธำรงรักษาและพัฒนาอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง 2) คนทุกกลุ่มในสังคมไทยสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) คนในท้องถิ่นใช้ภาษาท้องถิ่นอย่างกว้างขวางขึ้น อีกทั้งส่งเสริมให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในการศึกษาควบคู่กับภาษาไทย 4) นักแปลและล่ามแปลมีมาตรฐานวิชาชีพ ล่ามภาษามือที่มีคุณภาพมีจำนวนมากขึ้น 5) คนไทยที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านมีจำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น |
ตัวชี้วัด |
ประกอบด้วย 12 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) จำนวนโครงการ/กิจกรรมที่แสดงออกถึงการยอมรับความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น 2) อัตราการรู้หนังสือและความสามารถในการใช้ภาษาไทยของประชากรไทยเพิ่มขึ้น 3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากการทดสอบระดับชาติ (O-NET) มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 50 4) จำนวนผลงานวิจัยด้านหลักภาษาไทยและวรรณกรรมไทยเพิ่มขึ้น 5) จำนวนหลักสูตรและการฝึกอบรมภาษาไทยเพิ่มขึ้น 6) ร้อยละของสถานศึกษาที่ใช้ภาษาท้องถิ่นควบคู่กับภาษาไทยเป็นสื่อในการสอนเพิ่มขึ้น 7) ร้อยละของโครงการที่ส่งเสริมการใช้ การเรียนรู้ การอนุรักษ์ การพัฒนาภาษาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 8) มีมาตรฐานวิชาชีพนักแปลและล่ามแปล 9) มีสภาวิชาชีพการแปลและการล่าม 10) ร้อยละ 70 ของล่ามภาษามือที่ลงทะเบียนได้รับใบรับรองมาตรฐาน 11) จำนวนการสอนหรืออบรมภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น 12) จำนวนรายการในสื่อต่างๆ ที่ใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น |
ประเด็นยุทธศาสตร์ |
ประกอบด้วย 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่การยอมรับการเป็นสังคมพหุลักษณ์และมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ หน่วยงานหลัก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) 2) พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชาติด้วยการเรียนรู้ภาษาที่หลากหลาย หน่วยงานหลัก : ศธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น อว. มท. วธ. 3) ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติและปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยให้เป็นไปตามธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ หน่วยงานหลัก : อว. ศธ. รภ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น มท. รง. วธ. กรมประชาสัมพันธ์ 4) รักษา สืบทอดการใช้ภาษาท้องถิ่น หรือภาษาแม่ทั้งในชีวิตประจำวันและในระบบการศึกษา หน่วยงานหลัก : อว. มท. วธ. ศธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น พม. รภ. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 5) พัฒนาทักษะและความสามารถทางด้านภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หน่วยงานหลัก : กต. พม. อว. ศธ. รภ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รง. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมล่ามภาษามือ 6) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยและสื่อเพื่อการสื่อสาร การดำรงชีวิต และรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาส หน่วยงานหลัก : พม. รง. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น กต. มท. วธ. ศธ. |
แนวทางการขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการฯ |
1) สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมในการผลักดันแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ 2) เสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาในการจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ ที่บูรณาการเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ 3) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4) จัดทำแผนงานการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม เพื่อสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดลำดับความสำคัญของภารกิจหน่วยงานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาภายใต้แผนปฏิบัติการฯ 5) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนของภาคีการพัฒนาต่างๆ 6) ติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติโดยให้ความสำคัญกับการติดตามความก้าวหน้า การประเมินผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามประเด็นการพัฒนาตามแผนปฏิบัติการและผลการพัฒนาในภาพรวม |
ประโยชน์ที่จะได้รับ |
เช่น 1) ประชาชนชาวไทยทุกคนได้เรียนรู้และใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ประชาชนชาวไทยดูแลรักษาและส่งเสริมสนับสนุนภาษา วรรณกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) คนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการของรัฐ 4) ประชาชนทุกคนมีความสามารถในการใช้ภาษานานาชาติและภาษาประเทศเพื่อนบ้าน 5) ผู้แสวงหางานทำในประเทศไทยใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน |
ค่าใช้จ่าย |
ค่าใช้จ่ายที่ใช้ดำเนินการเพื่อจัดประชุมการขับเคลื่อนแผนและติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการฯ จะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ รภ. |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6946
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ