รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประจำปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 00:25
- Hits: 8581
รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประจำปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2563 สรุปสาระสำคัญดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน กสทช. รายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ประจำปี 2563 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานสำคัญของ กสทช. ในปี 2563 ได้ดำเนินภารกิจหลักในการบริหารคลื่นความถี่ การกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เช่น (1) การจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ สำหรับรองรับเทคโนโลยี 5G และการจัดทำแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (ปี 2563)
2. แผนการดำเนินงานและประมาณรายจ่ายประจำปี 2564
กสทช. และสำนักงาน กสทช. มีแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2564 เช่น (1) เตรียมความพร้อมในการประมูลคลื่นย่านความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีการคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ การจัดให้มีมาตรการป้องกันการรบกวนความถี่ที่ใช้งานร่วมกันระหว่างกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล และกิจการอื่น การจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ (2) ดำเนินการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (3) เร่งรัดปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) เพื่อรองรับการเรียกคืนคลื่นความถี่แห่งชาติ (National Spectrum Monitoring Center) โดยได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 6,509.43 ล้านบาท [งบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. 5,399.43 ล้านบาท และเงินจัดสรรเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 1,110 ล้านบาท]
3. ปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการฯ ได้แก่ (1) การหลอมรวมทางเทคโนโลยี (Convergence) ซึ่งก่อให้เกิดการผสมบริการกระจายเสียงโทรทัศน์และโทรคมนาคม เข้าด้วยกันในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 เพื่อให้มีหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายดังกล่าว) (2) การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของอุตสาหกรรม ปัจจุบันผู้บริโภคได้หันไปบริโภคเนื้อหารายการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over the Top: OTT) ซึ่งสามารถรับฟังและรับชมรายการได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านหลากหลายอุปกรณ์ รวมทั้งผู้ให้บริการ OTT มิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลการประกอบกิจการเช่นเดียวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการประกอบกิจการและการแข่งขัน รวมถึงการกำกับดูแลเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น กสทช. จึงได้กำหนดให้การพัฒนากิจการโทรทัศน์ของประเทศให้เหมาะสมกับบริบทใหม่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ภายใต้แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปรับกระบวนการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป และ (3) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้แผนการขับเคลื่อน 5G ของรัฐบาลจากเดิมที่มุ่งผลักดันเทคโนโลยี 5G ให้มีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตก่อนต้องชะลอออกไป เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กสทช. ได้เร่งผลักดันการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อน (เดิมคาดว่าจะถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 2-3 ปีข้างหน้า) และจะเร่งผลักดันเทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้าน อื่นๆ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ เริ่มคลี่คลาย
4. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในกิจการฯ สำนักงาน กสทช. ได้พัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของศูนย์ Call Center 1200 เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีสถิติการร้องเรียนของประชาชนผ่านช่องทางดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 2,275 เรื่อง ประเด็นการร้องเรียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) การร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 1,432 เรื่อง (2) การร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 458 เรื่อง และ (3) เรื่องอื่นๆ จำนวน 175 เรื่อง โดยสำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แล้วเสร็จ จำนวน 122 เรื่อง จากทั้งหมด จำนวน 132 เรื่อง (ร้อยละ 92.42) และเรื่องร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมแล้วเสร็จ จำนวน 1,487 เรื่อง จากทั้งหมด จำนวน 1,745 เรื่อง (ร้อยละ 85.21)
5. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ กทปส.
5.1 ประสิทธิภาพ ในปี 2563 มีผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาสนับสนุน กทปส. ประเภทที่ 1 จำนวน 41 โครงการ เป็นยอดวงเงินจัดสรรทั้งสิ้น จำนวน 256.49 ล้านบาท สามารถพิจารณาปรับลดเป็นผลให้ประหยัดงบประมาณได้ จำนวน 165.28 ล้านบาท (ร้อยละ 40) นอกจากนี้ จากการลงทุนในเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในประเทศ กทปส. ได้รับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 0.80 และมีแผนการเบิกจ่าย จำนวน 10,727.73 ล้านบาท แต่สามารถเบิกจ่ายได้ จำนวน 6,271.20 ล้านบาท (ร้อยละ 58.46) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการเบิกจ่ายในโครงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่พื้นที่ ชายขอบ (Zone C+) และโครงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่พื้นที่ห่างไกล (Zone C) ไม่เป็นไปตามแผน
5.2 ประสิทธิผล ในปี 2563 กทปส. มีรายได้จำนวนทั้งสิ้น 13,839.45 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 1,562.26 ล้านบาท และมีรายจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 8,324.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 5,311.46 ล้านบาท ทั้งนี้ มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 โดยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการและได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น โครงการศึกษาและพัฒนาบุคลากรเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานและพัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับองค์กรขนาดเล็กในระดับชุมชน และโครงการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามและอาชญากรรมทางไซเบอร์
6. รายงานสภาพตลาดและการแข่งขัน
6.1 กิจการโทรทัศน์ มูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในปี 2563 มียอดรวมประมาณ 61,662.46 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 6,382.78 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 9.38 ส่วนมูลค่าการโฆษณาในกิจการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ในปี 2563 มียอดรวมประมาณ 1,515.82 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 750 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 33 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการกระจายเม็ดเงินโฆษณาไปยังช่องรายการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมที่น้อยลง
6.2 กิจการกระจายเสียง มูลค่าการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม คลื่นหลักในกรุงเทพมหานคร ในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 3,602.25 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 1,132.60 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 24
6.3 กิจการโทรคมนาคม มีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่ของไทยประมาณ 5 ล้านเลขหมาย โดยลดลงร้อยละ 7.65 เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 116.29 ล้านเลขหมาย โดยลดลงร้อยละ 10.28 เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนบริการอินเทอร์เน็ต มีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 11.69 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.61 และมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 63.06 ล้านหมายเลข โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6944
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ