การเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 00:23
- Hits: 8278
การเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบการเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) จำนวน 8 ประเด็น
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับหลักการข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง จำนวน 8 ประเด็น ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ ตามมติที่ประชุมที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ไปประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
ข้อเท็จจริง
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เพื่อพิจารณาการดำเนินการเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ประกอบด้วย สคก. มท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ
1.1 ให้สำนักงาน ปปง. เสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT จำนวน 8ประเด็น ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติให้ส่ง สคก. ประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันต่อไปโดยมาตรฐานสากลดังกล่าวมีดังนี้
(1) การจดทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนเนื่องจากปัจจุบันยังมีองค์กรไม่แสวงหากำไรจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียน และการลงโทษยังไม่เพียงพอเหมาะสม
(2) การเก็บรักษาข้อมูลวัตถุประสงค์ของกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม และการเปิดเผยข้อมูลเนื่องจากไม่ชัดเจนว่ามีข้อมูลดังกล่าวและสาธารณชนเข้าถึงได้
(3) การจัดทำงบการเงินประจำปีที่แยกรายละเอียดของรายรับและรายจ่าย เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างประเทศ
(4) การควบคุมการใช้เงินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจกรตรวจสอบของนายทะเบียน รวมถึงการตรวจสอบบัญชีเป็นไปอย่างครบถ้วนและการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
(5) มาตรการยืนยันตัวตนผู้รับประโยชน์และการจัดเก็บเอกสารแสดงตนของผู้บริจาค เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการรับบริจาคจากต่างประเทศ
(6) การเก็บรักษารายการธุรกรรมอย่างน้อย 5 ปี และการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว
(7) บทลงโทษที่มีประสิทธิผล ได้สัดส่วน และมีผลยับยั้งการกระทำผิด เนื่องจากการลงโทษยังขาดความเพียงพอในด้านประสิทธิผล ความเหมาะสม และมีผลยับยั้งการกระทำผิดขององค์กรไม่แสวงหากำไร
(8) การให้ข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับหน่วยงานต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจเปิดเผยข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับต่างประเทศ และไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไรกับต่างประเทศ
1.2 มอบหมายให้ สคก. เป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน รวมทั้งการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
2. สำนักงาน ปปง. เสนอว่า
2.1 ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Group on Money Laundering: APG) ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 [เรื่อง การสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชีย - แปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering - APG)] และได้ต่ออายุกรอบข้อบังคับของ APG อีก 8 ปี (ถึงเดือนธันวาคม 2571) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 [เรื่อง ขอความเห็นชอบหนังสือยืนยันการต่ออายุกรอบข้อบังคับของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชีย - แปซิฟิก Asia/Pacific Group on Money Laundering – APG)] ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกมีภารกิจต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT โดยกรอบกฎหมายตามข้อแนะนำที่ 8 เรื่ององค์กรไม่แสวงหากำไรตามมาตรฐานสากลดังกล่าว กำหนดให้แต่ละประเทศต้องทบทวนความเพียงพอเหมาะสมของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเห็นว่ามีโอกาสถูกใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และใช้มาตรการอย่างเฉพาะเจาะจงและได้สัดส่วนกับความเสี่ยง เพื่อป้องกันมิให้องค์กรไม่แสวงหากำไรถูกใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน
2.2 ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลAML/CFT รอบที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยผลการประเมินความสอดคล้องด้านกรอบกฎหมายตามข้อแนะนำที่ 8 เรื่ององค์กรไม่แสวงหากำไร มีความสอดคล้องเพียงบางส่วน และมีข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำนวน 8 ประเด็น ตามข้อ 1.1 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบ AML/CFT ของประเทศไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลต่อไป
2.3 ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 1 ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับและอยู่ในความรับผิดชอบของต่างหน่วยงานกัน ซึ่งมีปัญหาในการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 กุมภาพันธ์ 2564) ซึ่งปัจจุบันร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเสนอเรื่องการเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยด่วน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6867
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ