แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2564 – 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 00:21
- Hits: 8804
แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2564 – 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แผนการส่งเสริมฯ) พ.ศ. 2564 – 2565 ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise: SME) ของประเทศ ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สสว. รายงานว่า
1. แผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 เป็นแผนที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนงานส่งเสริม SME ของประเทศ ที่ผ่านมามีแผนการส่งเสริมฯ แล้ว รวม 4 ฉบับ โดยแผนการส่งเสริมฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560 - 2564) มีกำหนดจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดทำแผนการส่งเสริมฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565 - 2570) แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างที่ผ่านมาเป็นระยะเวลายาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาการขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง ทำให้เกิดความพยายามลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้วยการลดและการเลิกจ้างงาน ซึ่งนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมและส่งผลกระทบเชิงสังคมในที่สุด สสว. จึงจัดทำแผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 – 2565 ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริม SME ในระยะนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดความต่อเนื่อง โดยได้จัดทำแผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 ผ่านการศึกษาโครงสร้างและสถานการณ์ SME การศึกษาเปรียบเทียบการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ของประเทศต่างๆ การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการดำเนินงานส่งเสริม พัฒนา SME และกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับ SME รวมทั้งองค์การเอกชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ SME โดยตรง
2. แผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
2.1 วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และตัวชี้วัดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
วิสัยทัศน์ |
SME อยู่รอดผ่านพ้นจากวิกฤติ ปรับตัวพร้อมกลับสู่การแข่งขันภายใต้บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ |
พันธกิจ |
1) ช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ให้สามารถประคองตัวฟื้นธุรกิจกลับมาได้ 2) เสริมศักยภาพ SME ให้พร้อมรับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ และพร้อมเข้าสู่การแข่งขันเมื่อสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย 3) สร้างเสริมปัจจัยแวดล้อมให้อำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการเริ่มต้นและเติบโตได้ |
เป้าหมายของ แผนการส่งเสริมฯ |
SME ไทยสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ในสภาวะวิกฤติ โดยยังคงไว้ซึ่งรายได้และการจ้างงาน และปรับตัวพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ |
ตัวชี้วัด |
1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SME ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 2) อัตราการขยายตัวของการจ้างงานของ SME เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.8 ต่อปี |
ระยะเวลา |
ระยะเวลา 2 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565) |
2.2 แนวทางการส่งเสริม SME ประกอบด้วย 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทาง/ประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ เช่น |
เป้าหมายและตัวชี้วัด |
|
แนวทางที่ 1 การบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 เป็นการให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเงิน การลดรายจ่าย การสร้างรายได้ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ SME ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ |
||
1) เสริมสภาพคล่องให้ SME เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ เช่น ส่งเสริมให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับ SME ในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก จัดให้มีกองทุนพิเศษให้สินเชื่อแก่ SME เป็นต้น 2) สร้างโอกาสในการขายและการขยายตลาด เช่น ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริม SME เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้เป็นรูปธรรม ส่งเสริม SME เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาคธุรกิจ เป็นต้น 3) เสริมสร้างความรู้และทักษะอาชีพให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เช่น เสริมสร้างทักษะเบื้องต้นในการประกอบธุรกิจและส่งเสริมการฝึกอาชีพ เสริมทักษะใหม่แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบที่ถูกลดระยะเวลาการทำงานและถูกเลิกจ้าง เป็นต้น |
SME สามารถประคองตัวให้อยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ โดยคาดว่ารายได้ของ SME และอัตราการลดลงของสินเชื่อด้อยคุณภาพของ SME จะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ตัวชี้วัด : สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL)ของ SME ต่อสินเชื่อรวมของ SME ไม่เกินร้อยละ 6.2 ในปี 2565 |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงาน ก.พ.ร. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และ สสว.
|
||
แนวทางที่ 2 การสร้างความพร้อมให้ SME ในการเข้าสู่การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ SME ทั้งในด้านความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ ด้านการนำเครื่องมือสมัยใหม่มาใช้ในการดำเนินการด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อให้ SME ของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล |
||
1) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและธุรกิจ เช่น ส่งเสริม และสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น 2) พัฒนาสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และสร้างมูลค่าจากการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ 3) พัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เช่น เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาจบใหม่และสร้างโอกาสแก่นักศึกษาในการเรียนรู้ฝึกทักษะเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต เป็นต้น 4) ส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในระดับสากล เช่น เสริมสร้างความรู้เบื้องต้นที่จำเป็นในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ สนับสนุนให้มีการขยายตลาดหรือขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เป็นต้น 5) สร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ บ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ เป็นต้น |
SME สามารถปรับตัวพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าผลิตภาพแรงงาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 ตัวชี้วัด : 1) ผลิตภาพแรงงาน SME ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท/คน/ปี 2) สินเชื่อ SME ต่อสินเชื่อรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 23 และ 3) มูลค่า การส่งออกของ SME ต่อมูลค่าการส่งออกรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 13.5 |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) อว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) พณ. รง. ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อก. สกท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สคช. สสว. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
|
||
แนวทางที่ 3 การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดความสะดวกแก่ SME โดยเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ให้ทันสมัย สามารถสร้างโอกาสและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในทุกระดับ ทุกกลุ่มสาขา และทุกพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ |
||
1) ปรับแก้กฎหมายและวิธีปฏิบัติให้เอื้อและลดอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เช่น ศึกษาทบทวนนโยบายด้านภาษีให้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการพัฒนา SME นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน เป็นต้น 2) พัฒนาฐานข้อมูล SME (SME Big Data) สำหรับใช้ในการกำหนดนโยบาย เช่น มีศูนย์กลางข้อมูล SME ที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการหรือขอรับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เชื่อมโยงข้อมูลด้าน SME ที่สำคัญของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น 3) มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูลและบริการ เช่น พัฒนาศูนย์บริการ SME (SME one - stop service center) พัฒนาเว็บไซต์กลางในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ SME (SME Web Portal) เป็นต้น 4) พัฒนาเครื่องมือในการประเมินศักยภาพ SME ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) ส่วนของ SME ที่ใช้ประเมินตนเองได้ (Self Assessment) (2) ระบบสำหรับการประเมินศักยภาพ SME ซึ่งได้มีการกำหนดปัจจัยหลัก ปัจจัยย่อย เกณฑ์การให้คะแนนการกำหนดน้ำหนักของข้อมูลต่างๆ และ (3) ผู้เชี่ยวชาญประเมินในเชิงลึกให้กับ SME 5) พัฒนาปัจจัยแวดล้อมทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ เช่น จัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับธุรกิจรายย่อย ขยาย/เพิ่มเติมรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อ สนับสนุนให้เกิดการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับผู้ประกอบการ SME ในวงกว้าง เป็นต้น |
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้รับการปรับแก้ให้เอื้อต่อการประกอบการไม่ก่อให้เกิดภาระที่เกินจำเป็นแก่ SME ทั้งในด้านเอกสาร เวลา ค่าใช้จ่ายและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวชี้วัด : ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์จากการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการบริการของภาครัฐ |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ : กค. อว. พณ. ก.ล.ต. สคช. สสว. และ ธปท.
|
3. แผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 จัดเป็นแผนระดับ 3 และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. 2564 – 2565 แผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2564 - 2565) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 แล้ว และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนดังกล่าว โดยให้ สสว. รับความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในรายละเอียด เช่น 1) ควรนำแผนการส่งเสริมดังกล่าวไปวิเคราะห์ต่อเพื่อให้มีเจ้าภาพผลักดันการสร้าง Data Platform และ Service Platform ให้กับ SME เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการทำ การค้าขายบนแพลตฟอร์มของต่างชาติเป็นหลัก ทำให้ต่างชาติได้รับข้อมูลธุรกรรมซื้อขายของประเทศไทย และประเทศไทยไม่มีฐานข้อมูลสำหรับใช้วิเคราะห์การตลาดและการส่งเสริมผู้ประกอบการ และ 2) ควรมีการเก็บข้อมูลของ SME อย่างครบถ้วน เช่น ข้อมูล SME รายประเภท/สาขาธุรกิจ รวมทั้ง SME ที่เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise : IDE) และ Startup เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และกำหนดแนวทางบ่มเพาะผู้ประกอบการและส่งเสริม SME ทั้งในและนอกระบบที่ชัดเจน เป็นต้น และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่ง สสว. ได้นำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนในครั้งนี้ด้วยแล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6866
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ