การนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาคร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 00:12
- Hits: 8537
การนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ) เสนอ แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ) ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม เพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างครอบคลุมทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างในทุกหน่วยงานของรัฐ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างฯ รายงานว่า
1. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากผลคะแนนดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) ของไทยที่ยังไม่ดีขึ้น โดยอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน [ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ ปี 2563] ดังนั้น จึงควรเร่งสนับสนุนกระบวนการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งกระบวนการตรวจสอบ โดยภาคประชาชนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไม่ได้จำกัดเพียงการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐภายใต้กฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ หรือมีลักษณะการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น เช่น โครงการที่มีลักษณะร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป็นต้น ต้องนำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นของหน่วยงานของรัฐอันจะส่งผลให้ CPI ของไทยมีอันดับที่ดีขึ้น
2. แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยฝ่ายหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและฝ่ายผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอได้ตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างและให้มีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง และร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงขั้นตอนสิ้นสุดโครงการ โดยผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องจัดทำข้อตกลงคุณธรรมดังกล่าวให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา [ตามประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2561
3. การนำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ที่ผ่านมาพบว่า มีบางโครงการเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สาธารณชนสนใจแต่ไม่สามารถคัดเลือกให้เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมได้ และแม้ว่าบางโครงการได้รับเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมแล้ว หากภายหลังหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการพบว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ จะต้องถูกยกเลิกการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมไปในที่สุด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างและเพื่อให้การใช้งบประมาณของหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรให้หน่วยงานของรัฐที่มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ นำแนวทางการดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้โดยอนุโลม
4. คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ นำแนวทางและวิธีการในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ และประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม รายละเอียดดังนี้
แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)
ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น
นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม
___________
กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือมีลักษณะการร่วมลงทุน นำการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและปรับใช้อย่างเหมาะสม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. แนวทางการดำเนินงาน
1.1 หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐแจ้งโครงการที่จะเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม และต้องให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบตลอดจนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
1.2 หน่วยงานมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมรวบรวมโครงการและคัดเลือกโครงการเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรม รวมถึงคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์โครงการที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
1.3 หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมจะต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาว่าต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรมตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
1.4 เมื่อได้ผู้ชนะการเสนอราคาแล้ว หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ ผู้รับจ้าง ผู้สังเกตการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมแผนปฏิบัติการ (Kickoff Meeting) ร่วมกัน และหลังจากนั้นผู้สังเกตการณ์จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
1.5 การประเมินผลโครงการตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด เพื่อนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการข้อตกลงคุณธรรมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นต่อไป
2. การแต่งตั้งคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบ
หน่วยงานอาจกำหนดคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมโดยให้คณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบที่หน่วยงานแต่งตั้งกำกับ ดูแล และกำหนดแนวทาง และวิธีปฏิบัติแนวทางการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมตามที่หน่วยงานกำหนด
3. การคัดเลือกภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์
ให้คณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบตามที่หน่วยงานกำหนด ดำเนินการในการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม โดยผู้สังเกตการณ์จะต้องเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมวิชาชีพ หรือภาคประชาสังคมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้นๆ โดยจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
4. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรม
หน่วยงานอาจกำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับผู้สังเกตการณ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจในด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเพื่อให้ผู้สังเกตการณ์ได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากผู้สังเกตการณ์มีภาระหน้าที่ที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมากและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ดังนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องขอจัดตั้งการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณในการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมโดยตรง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6865
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ