รายงานผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 00:04
- Hits: 8623
รายงานผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้ามาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institution : SFIs) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ และ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ ที่ได้ดำเนินการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการพักชำระหนี้ของ SFIs โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ SFIs พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือเพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือเพื่อการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยวิธีการชำระหนี้ที่พักชำระไว้ดังกล่าวจะต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินควรเมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยกรณีที่ SFIs ได้พิจารณาพักชำระไว้ด้วย นอกจากนี้ ให้ SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ กระทรวงการคลังจึงขอรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พร้อมทั้งมาตรการสินเชื่อ เพื่อจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และพลิกฟื้นให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการประกอบธุรกิจต่อไปได้
ผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่าน SFIs
1. มาตรการพักชำระหนี้
ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564 SFIs ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการพักชำระหนี้ด้วยการพักชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย และ/หรือ ลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือ ขยายระยะเวลาชำระหนี้แล้ว รวมทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 ธนาคารออมสิน ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งสิ้น 3.28 ล้านราย วงเงิน 1.46 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 711,874 ราย วงเงิน 381,150 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 699,300 ราย วงเงิน 349,702 ล้านบาท และธุรกิจ 12,574 ราย วงเงิน 31,448 ล้านบาท
1.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านราย วงเงิน 1.12 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 2.35 ล้านราย วงเงิน 661,085 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเกษตรกร 2.34 ล้านราย วงเงิน 648,809 ล้านบาท และธุรกิจ 7,039 ราย วงเงิน 12,276 ล้านบาท
1.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งสิ้น 875,179 ราย วงเงิน 745,139 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 143,100 ราย วงเงิน 137,259 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 142,912 ราย วงเงิน 136,348 ล้านบาท และธุรกิจ 188 ราย วงเงิน 911 ล้านบาท
1.4 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 1,984 ราย วงเงิน 42,915 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 1,351 ราย วงเงิน 37,243 ล้านบาท
1.5 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รวมทั้งสิ้น 11,799 ราย วงเงิน 19,919 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 2,486 ราย วงเงิน 7,701 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 2,328 ราย วงเงิน 1,631 ล้านบาท และธุรกิจ 158 ราย วงเงิน 6,070 ล้านบาท
1.6 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 42,083 ราย วงเงิน 61,097 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 23,565 ราย วงเงิน 38,573 ล้านบาท
1.7 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 2,216 ราย วงเงิน 4,319 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 1,863 ราย วงเงิน 2,386 ล้านบาท
อนึ่ง กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ SFIs ทั้ง 7 แห่ง ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการพักชำระหนี้ ด้วยการพักชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย ลดอัตราดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ ให้ SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ
2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ
SFIs ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่นอกเหนือจากมาตรการสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ดังนี้
2.1 ธนาคารออมสิน ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชนทั่วไป ธุรกิจรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) โดยครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ซึ่งไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,831 ล้านบาท
2) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือ SMEs ภาคท่องเที่ยว ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,855 ล้านบาท
3) มาตรการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรกร้อยละ 0.1 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 6,873 ล้านบาท
4) มาตรการสินเชื่อ DxD เพื่อคู่ค้า Department Store เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับคู่ค้าหรือผู้เช่าร้านค้า อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Overdraft Rate: MOR) - 1 หรือประมาณร้อยละ 4.995 วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 2,000 ล้านบาท
5) มาตรการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14.99 ต่อปี ซึ่งได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำกว่าอัตราตลาดของธุรกิจสินเชื่อที่มีรถเป็นหลักประกัน เพื่อช่วยให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดในธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง วงเงินคงเหลือ 16,000 ล้านบาท
2.2 ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 10,000 ล้านบาท
2) มาตรการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงินคงเหลือ 42,252 ล้านบาท
2.3 ธสน. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
1) มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 572 ล้านบาท
2) มาตรการสินเชื่อส่งออกสุขสุด สุด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 1.5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 358 ล้านบาท
3) มาตรการสินเชื่อ Global อุ่นใจ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท
2.4 ธอท. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจรายย่อย และธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
1) มาตรการสินเชื่อมุสลิมและสินเชื่อสนับสนุนชายแดนภาคใต้รายย่อยวงเงินกู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท
2) มาตรการสินเชื่อเสริมสร้างธุรกิจรายย่อยมุสลิม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 200,000 บาท
2.5 ธพว. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs ในทุกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
1) มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละ 1 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละ 3 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 3,144 ล้านบาท
2) มาตรการสินเชื่อจ่ายดีมีเติม สำหรับลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (Minimum Loan Rate: MLR) + 0.5 หรือประมาณร้อยละ 7.25 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 1,978 ล้านบาท
3) มาตรการสินเชื่อ Local Economy Loan อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ร้อยละ 2.875 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 7,712 ล้านบาท
2.6 บสย. ได้มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการต่างๆ เช่น
1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 100 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก วงเงินคงเหลือ 101,276 ล้านบาท
2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 500,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 1.50 ต่อปี และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก วงเงินคงเหลือ 18,364 ล้านบาท
ทั้งนี้ SFIs ได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินโครงการจับคู่กู้เงินเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
3. ผลการดำเนินงานของ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ
มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกลไกการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
3.1 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 สถาบันการเงินได้อนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) การให้สินเชื่อผ่าน SFIs จำนวน 1,292 ราย วงเงินรวม 4,408 ล้านบาท และ 2) การให้สินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ จำนวน 12,143 ราย วงเงินรวม 36,356 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 20 ล้านบาท ได้เข้าถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูแล้วจำนวน 10,832 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80.63 ของจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด โดยมาตรการดังกล่าวมีวงเงินคงเหลือ 209,236 ล้านบาท
3.2 มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 7 ราย คิดเป็นราคารับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (ราคารับโอนฯ) รวม 922 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) ลูกหนี้ของ SFIsจำนวน 4 ราย คิดเป็นราคารับโอนฯ รวม 910 ล้านบาท และ 2) ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 3 ราย คิดเป็นราคารับโอนฯ รวม 12 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวมีวงเงินคงเหลือ 99,078 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6863
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ