การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 June 2021 00:00
- Hits: 8783
การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เห็นชอบการปรับปรุงการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย และเห็นชอบการปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ความเป็นมาและผลการดำเนินงาน
1.1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 วันที่ 18 สิงหาคม 2563 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ดังนี้
1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และอนุมัติงบประมาณชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) แบ่งเป็นร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 25 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด และร้อยละ 50 ของ NPLs มากกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 40 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,250 ล้านบาท
ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ธพว. อนุมัติสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไปแล้วจำนวน 4,012 ราย จำนวนเงิน 6,856 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 3,144 ล้านบาท
2) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออมสินช่วยเหลือ SMEs ในภาคการท่องเที่ยว (โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย) วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และ Supply Chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮาส์ โฮสเทล เป็นต้น วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 1 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และอนุมัติงบประมาณชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,500 ล้านบาท
ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ไปแล้วจำนวน 2,691 ราย จำนวนเงิน 1,139 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 3,861 ล้านบาท
1.2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและ Supply Chain โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปีในปีแรก ร้อยละ 0.99 ต่อปีในปีที่ 2 และร้อยละ 5.99 ต่อปีในปีที่ 3 รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และอนุมัติงบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 600 ล้านบาท
ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ไปแล้วจำนวน 389 ราย จำนวนเงิน 2,747 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 7,253 ล้านบาท
2. การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ
2.1 การขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามที่กล่าวในข้อ 1.1 1)
2.2 การปรับปรุงการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้
1) ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี
2) ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี
3) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564
โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้นไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิม รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามที่กล่าวในข้อ 1.1 2)
2.3 การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนี้
1) ขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตามที่ธนาคารออมสินเห็นสมควร เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562 หรือปี 2563 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ SMEs
3) ปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำ หรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น เป็นไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง โดยรายละเอียดการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินให้เป็นไปตามที่ธนาคารออมสินกำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
4) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564
โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้นไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิม รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามที่กล่าวในข้อ 1.2
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว เห็นควรให้ธนาคารออมสินคำนึงถึงและรักษาสิทธิของลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปแล้วก่อนมีการปรับปรุงรายละเอียดข้างต้นด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6862
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ