มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ อันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 June 2021 23:52
- Hits: 8042
มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ อันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน
2. มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนตามข้อ 1 โดยให้กระทรวงการคลัง สนับสนุนข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังให้กระทรวงแรงงาน เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนตามข้อ 1 และขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564
3. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่งภายในเดือนกรกฎาคม 2564 พร้อมทั้งประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ลงทะเบียนว่ามีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายตามหลักการให้ความช่วยเหลือ
และจัดส่งให้กับกระทรวงแรงงานเพื่อดำเนินการต่อไป
4. มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ดำเนินการลงทะเบียนในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด - 19 ตามความเหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญ
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) และ (2) มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เหมาะสม ดังนี้
1. มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน
1.1 หลักการในการให้ความช่วยเหลือ
1) พื้นที่การให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ พื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) ที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24)
2) กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบและนอกระบบ
3) ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
4) ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 1 เดือน
1.2 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
1) กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1.1 จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน
2) ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1.1 จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน
3) ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1.1 แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ดำเนินการ ดังนี้
3.1) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฏาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
3.2) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท
3.3) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือตามข้อ 3.1)
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน จะมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท
4) มาตรการอื่นๆ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่มีกำลังซื้อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้กระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2564 ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”
นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบแก่กลุ่มแรงงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับในการให้หยุดงาน และห้ามเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 30 วัน รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จะประสานขอความร่วมมือให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานกับสมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหารในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ใช้บริการอาหารจากภัตตาคาร ร้านอาหาร และร้านอาหารรายย่อย แม่ค้า พ่อค้า เพื่อดูแลกลุ่มแรงงานในสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง
2. มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป : การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในลักษณะมุ่งเป้าได้ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างดำเนินการลงทะเบียนในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด - 19 ตามความเหมาะสมต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6860
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ