ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 June 2021 22:00
- Hits: 9965
ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC) [เป็นการดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรี (4 สิงหาคม 2563) ที่ให้ สศช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการดำเนินงานของ RIC ประเทศไทย (ไทย) เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้ชัดเจน และให้รายงาน ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นระยะต่อไป] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
1. เป็นพื้นที่สำหรับการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายและส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือในการจัดทำนโยบายสาธารณะให้ตอบโจทย์การพัฒนาทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย 2. เป็นกลไกในการนำไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเชิงนโยบายในภูมิภาคโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) 3. เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับชุมชนของนวัตกรจากทั่วโลก โดยมุ่งสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายสาธารณะ เป็นต้น |
กรอบแนวทาง การขับเคลื่อนโครงการ |
แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก ประกอบด้วย 1. การพัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อปรับและเตรียมการพัฒนาในมิติต่างๆ ของประเทศ 2. การยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ การใช้เครื่องมือการพัฒนานโยบายใหม่ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายในการพัฒนาประเทศ 3. การสร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย มุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายนักพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและสร้างสรรค์แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการและกระบวนการคิดแบบใหม่ และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมในเชิงนโยบายที่หลากหลาย |
กรอบงบประมาณ |
ไทยจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สศช. ได้รับอนุมัติงบประมาณโครงการดังกล่าวแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 และ 6 มิถุนายน 2563) |
ประโยชน์ที่คาดว่า ไทยจะได้รับ |
1. ยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศ 2. สนับสนุนการขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค 3. สนับสนุนการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในฐานะผู้นำการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำนวัตกรรมเชิงนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่และการพัฒนาสำหรับอนาคต 4. สนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย 5. ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการที่นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาครัฐมีประสิทธิผลสูงขึ้นและกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น |
ผลการดำเนินกิจกรรมสำคัญ ในระยะที่ผ่านมา |
1. พัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย โดย (1) สำรวจและจัดกิจกรรมการทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่การพัฒนาเป้าหมาย เช่น จัดประชุมเชิงปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาเพื่อกำหนดประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน ในการทำนโยบายด้านการท่องเที่ยวให้สอดรับกับมิติของพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ (2) พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อปรับและเตรียมการพัฒนาในมิติต่างๆ ของประเทศ 2. ยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย โดย (1) พัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดทำนโยบายสาธารณะผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบาย และ (2) ออกแบบหลักสูตรการอบรมต่างๆ ร่วมกับภาคีการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลและเผยแพร่แนวคิดเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายในวงกว้าง 3. สร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย โดย (1) พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมให้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นเวทีการสร้างการมีส่วนร่วมและดำเนินกิจกรรมร่วมกันของภาคีในเครือข่ายเพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย (2) เข้าร่วมและจัดการหารือระดับประเทศและนานาชาติที่เกี่ยวกับนวัตกรรมเชิงนโยบาย เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การพัฒนาบริการภาครัฐแห่งอนาคต และการพัฒนาเมืองอนาคต และ (3) สร้างเครือข่ายนักนวัตกรรมเชิงนโยบายร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาในประเทศและภูมิภาค |
ปัญหาและอุปสรรค |
1. กระบวนการสรรหาเจ้าหน้าที่เพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการโครงการฯ ของ UNDP มีความล่าช้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม UNDP ได้สรรหาเจ้าหน้าที่แล้วเสร็จและได้เริ่มเข้าปฏิบัติงานแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2564 2. การระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานตามแผนงานต่างๆ ล่าช้า เช่น การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดอบรม/สัมมนา และการลงพื้นที่ ซึ่ง สศช. UNDP และภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือเพื่อปรับกิจกรรมภายใต้แผนการดำเนินงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจะเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานต่อไป |
การดำเนินการ ในระยะต่อไป |
สศช. จะเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการดำเนินการโครงการฯ และเร่งรัดขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายในไทยและภูมิภาคต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6859
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ