รายงานผลการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 June 2021 01:03
- Hits: 7280
รายงานผลการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 27 มกราคม 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้บางประการ และมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีข้อสังเกตว่าพืชกระท่อมเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ จึงควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกร และได้ปรับลดระยะเวลาวันใช้บังคับกฎหมายให้มีความเหมาะสม จากพ้นกำหนด 180 วัน เหลือ 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ซึ่งจะเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมบังคับเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมหลังจากที่ได้ยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด ไม่ควรมีลักษณะเป็นการควบคุม หรือมีข้อจำกัดการใช้พืชกระท่อมในลักษณะเป็นยาเสพติด เว้นแต่เป็นการควบคุมบางประการให้มีความเหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งควรสนับสนุนพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปให้เกิดประโยชน์ต่อไป
2. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้บางประการ และมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีข้อสังเกตว่าการยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อาจนำไปใช้ผสมกับยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอื่นๆ และอาจกระทบต่อผู้ซึ่งได้ดำเนินการปลูก ผลิต นำเข้าและส่งออกไปก่อนที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมเป็นการเฉพาะและเพื่อมิให้เกิดสุญญากาศ และควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมให้ชัดเจนและเพียงพอทั้งในด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ รวมทั้งควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ยธ. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 โดยมีแนวทางการดำเนินการและข้อสังเกตเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ |
แนวทางการดำเนินการและข้อสังเกต |
|
1. ควรมีการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวันบังคับใช้กฎหมาย [มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (รจ.)] ซึ่งประชาชนอาจเกิดความเข้าใจผิดว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ทันทีหากมีการใช้หรือบริโภคอาจถูกจับกุมในช่วงเวลาที่กฎหมายยังไม่มีผลใช้บังคับได้ [ปัจจุบัน พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 64 ได้ประกาศใน รจ. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 64 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 ส.ค. 64] |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำชุดความรู้ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปสื่อสารกับประชาชนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยจัดทำในรูปแบบของอินโฟกราฟิก และมีเนื้อหาครอบคลุมถึงวันบังคับใช้กฎหมาย ประโยชน์ โทษ รวมทั้งเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งนี้ สำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีการใช้พืชกระท่อมมากกว่าพื้นที่อื่น จะได้มีการใช้ภาษาท้องถิ่นหรือภาษาต่างประเทศด้วย - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนผ่านกลไกต่างๆ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เช่น ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ และหอกระจายข่าว เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวันมีผลใช้บังคับของกฎหมาย เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว |
|
2. การจัดทำร่างกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมควรมีเนื้อหา ดังนี้ 2.1 ไม่ควรควบคุมหรือมีข้อจำกัดการใช้แบบ ยาเสพติด 2.2 ควรควบคุมเฉพาะที่จำเป็นและมีความเหมาะสม เช่น การป้องกันการใช้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ประชาชนสามารถปลูกได้อย่างเท่าเทียม 2.3 ส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และการแปรรูป 2.4 การเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมเนื่องจากการนำพืชกระท่อมไปผสมกับยาเสพติดให้โทษประเภทอื่นยังคงเป็นความผิดอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้บังคับกฎหมาย |
- สคก. ได้นำประเด็นข้อสังเกตดังกล่าวไปตรวจพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ. …. แล้ว ซึ่ง ครม. ได้มีมติ (18 พ.ค. 64) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร |
|
3. ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมพืชกระท่อม ให้พิจารณานำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ |
- การควบคุมพืชกระท่อมไม่ให้นำไปใช้ในอาหารอาจพิจารณานำประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 มาใช้บังคับ - การป้องกันการเข้าถึงพืชกระท่อมในเด็กและเยาวชน อาจพิจารณานำพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาใช้บังคับ โดยแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บนและจัดให้เด็กทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2549 เป็นต้น |
|
4. ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมในด้านต่างๆ ให้ชัดเจนเพียงพอ อาทิ ด้านสุขภาพ ประโยชน์จากสารสกัดพืชกระท่อม ผลกระทบด้านลบในการเสพติดหรือเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์ โดยมีแนวทางที่สำคัญ จำนวน 11 ด้าน ดังนี้ 1) การพัฒนาสายพันธุ์ ระบบการเขตกรรม การเก็บเกี่ยว และวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว 2) การศึกษาและวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การเคี้ยวใบสด ต้ม ชงชา และผง 3) การวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานจากพืชกระท่อม 4) การศึกษาและวิจัยทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของสารสกัดพืชกระท่อม 5) การวิจัยและพัฒนาในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย 6) การวิจัยและพัฒนาในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน 7) การวิจัยและพัฒนาในการทดแทนสารเสพติด 8) การวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจฐานชุมชน 9) การวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่ระบบเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม 10) การศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบกำกับ ดูแลและติดตามพืชกระท่อม 11) การวิจัยเชิงสังคม กฎหมาย สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในเรื่องของทุนสนับสนุน หากมีโครงการศึกษาวิจัยเร่งด่วน สำคัญ และมีผลกระทบต่อประเทศ สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6728
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ