ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 June 2021 00:54
- Hits: 7426
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภามาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 ข้อเสนอแนะระดับนโยบาย ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง 2) การเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบ 3) การให้ความสำคัญภาคการผลิตและภาคการบริการ 4) การขยายอายุกองทุนประกันสังคม 5) การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ 6) การออมในรูปแบบอื่น และ 7) การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข
1.2 ข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติ ได้แก่ 1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ 2) การเพิ่มบทบาทของธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ 3) การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน เงินทุนหมุนเวียน 5) การเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ว่างงานให้ตรงตามความต้องการ 6) การปรับใช้ระบบการทำงานแบบดิจิทัล 7) การขยายฐานนักลงทุน และ 8) การยกระดับภาคการเงินให้เป็นไปอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance)
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่าได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ดศ. สธ. รง.สงป. และ สศช. เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 1. แล้ว โดยไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการและมีความเห็นเพิ่มเติม สรุปได้ ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะระดับนโยบาย
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ |
|
1. การเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง 1.1 ปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐบาลทั้งระบบ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ 1.2 ควรบูรณาการระบบภาษีเข้ากับระบบสวัสดิการ 1.3 ความเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณและใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม |
• กค. ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้โดยมีการผลักดันบังคับใช้กฎหมาย E-Service และ Transfer Pricing เพื่อช่วยป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทและเพิ่มรายได้ของรัฐ • สงป. ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรร งบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบและให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน รวมทั้งให้หน่วยรับงบประมาณรายงานผลสัมฤทธิ์และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภารกิจอย่างเหมาะสม |
|
2. การเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบ ควรจัดทำแผนดำเนินการเพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID - 19 โดยต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 1 ปีขึ้นไป |
• สธ. ได้มีการเตรียมพร้อมในการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 สธ. ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (AMC) กับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และเตรียมพร้อมด้านงบประมาณสำหรับการจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย |
|
3. การให้ความสำคัญภาคการผลิตและภาคการบริการ ควรส่งเสริมภาคการผลิตให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดตลาดภาคการบริการให้มากยิ่งขึ้น |
• สศช. ได้มีแนวทางเสริมสร้างศักยภาพในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศให้สามารถ “ล้มแล้ว ลุกไว หรือ Resilience” เช่น สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยเน้นเกษตรทฤษฎีใหม่สินค้าและบริการชุมชน สินค้าโอทอป เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการ |
|
4. การขยายอายุกองทุนประกันสังคม 4.1 เพิ่มอัตราเงินสมทบร้อยละ 2 ทุก 5 ปี เป็นระยะเวลา 15 ปี นับแต่ปีที่เริ่มดำเนินการ 4.2 ขยายอายุผู้มีสิทธิเริ่มรับบำนาญชราภาพ ขยายเป็น 65 ปี โดยปรับอายุรับบำนาญเพิ่ม 1 ปี ทุกๆ 5 ปี 4.3 เพิ่มเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท ต่อเดือน เป็น 20,000 บาทต่อเดือน 4.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินกองทุนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนการลงทุน |
• รง. และ กค. ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกองทุนประกันสังคม และมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มอัตราเงินสมทบตามความเห็นขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำเป็นต้องลดอัตราเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนปี 2563 ส่วนในปี 2564 จะปรับลดอัตราเงินสมทบในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 และในส่วนของการเพิ่มเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาทต่อเดือน เป็น 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงข้อดี ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการปรับเพดานค่าจ้างในช่วงนี้ |
|
5. การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ 5.1 ผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ..... 5.2 ส่งเสริมการออมภาคสมัครใจสำหรับแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ |
• รง. และ กค. ได้ดำเนินการผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อเป็นการบังคับให้ลูกจ้างมีการออมเงินการเกษียณอายุในระดับที่เหมาะสมและมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ รวมทั้งส่งเสริมการออมภาคสมัครใจสำหรับแรงงานนอกระบบโดยมีมาตรการจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติและส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง |
|
6. การออมในรูปแบบอื่น เช่น การออมผ่านการใช้จ่าย โดยทุกครั้งที่มีการชำระสินค้า จะต้องหักส่วนหนึ่งเข้ากองทุนการออมเพื่อเกษียณอายุ |
• กค. ได้ดำเนินการให้มีการบังคับออม โดยการออมผ่านการใช้จ่าย (Saving through spending) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการออมเพื่อการดำรงชีพหลังเกษียณ โดยจะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้และผลกระทบในด้านต่างๆ ก่อน |
|
7. การเตรียมความพร้อมทางด้านการสาธารณสุข การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 |
• สงป. และ สธ. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ เพื่อรองรับการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 99,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมด้านการจัดหาวัคซีนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง |
2. ข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติ
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ |
|
1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ 1.1 ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละรอบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 1.2 หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุน ควรให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายและใช้งบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ |
• สงป. ได้กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว โดยกำหนดเป็นเป้าหมายการใช้จ่ายในแต่ละไตรมาส • กค. ได้ดำเนินการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ และคณะกรรมการเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 |
|
2. การเพิ่มบทบาทของธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ ควรกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านของรูปแบบการให้สินเชื่อ เช่น ผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ งดคิดดอกเบี้ยหรือลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม |
• ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนผันระยะเวลาการชำระหนี้ การงดคิดดอกเบี้ยหรือลดอัตราดอกเบี้ย โดยกำหนดระยะเวลาให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เช่น ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินพิจารณาขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563 • กค. มีมาตรการเพื่อผ่อนผันการชำระหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ที่ไม่แน่นอนจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ • รัฐบาล ได้มีมาตรการด้านการเงินโดยให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เช่น มาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SMEs โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นต้น |
|
3. การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 3.1 เรื่องรายรับรายจ่ายการออมการลงทุน 3.2 การทำประกันภัยการว่างงานและประกันภัยโรคระบาด |
• กค. ได้ดำเนินการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน เรื่องรายรับรายจ่าย การออมการลงทุน และผลตอบแทนการลงทุนประเภทต่างๆ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมสัมมนาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนและปรับปรุงแผนการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ระยะ 5 ปี เพื่อยกระดับทักษะทางการเงินของประชาชน • ประกันภัยการว่างงาน ขณะนี้ไม่มีบริษัทรับประกันภัยมานานแล้ว • ธปท. ได้เร่งสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมทั้ง คนรุ่นใหม่ โดยผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Fin. ดี We Can Do!!! และ Fin ดี Happy Life!!! เป็นต้น |
|
4. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนเงินทุนหมุนเวียนรัฐวิสาหกิจ 4.1 ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินกองทุนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน 4.2 ควรมีการประเมินการบริหารจัดการกองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียน 4.3 ควรพิจารณาทบทวนบทบาทของกองทุน หรือเงินทุนหมุนเวียน |
• กค. ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ โดยจำเป็นต้องนึกถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ได้มีระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจและรายงานผลการประเมินเป็นประจำทุกปี รวมถึงได้มีการทบทวนบทบาทของทุนหมุนเวียน เกี่ยวกับการยุบเลิกทุนหมุนเวียนตาม พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 |
|
5. การเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ว่างงานให้ตรงตามความต้องการของตลาด 5.1 ควรเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ว่างงานเพื่อสร้างอาชีพหรือมีทักษะตรงตามความต้องการของตลาด 5.2 ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนประกอบอาชีพรอง เพื่อเป็นรายได้เสริม |
• รง. ได้ดำเนินการฝึกอบรมให้แก่แรงงานผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน บุคคลทั่วไปให้มีทักษะความสามารถที่สูงขึ้น ภายใต้โครงการ เช่น โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษรวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนประกอบอาชีพรอง เพื่อเป็นรายได้เสริม ผ่านโครงการต่างๆ ของ รง. เช่น โครงการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนชุมชน และสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาทักษะด้านอาชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ โดยมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน รวม 77 แห่ง ทั่วประเทศ |
|
6. การปรับใช้ระบบการทำงานแบบดิจิทัล เช่น การยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การยอมรับการลงลายมือชื่อผ่านอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้ระบบไร้กระดาษ (Paperless) |
• ดศ. ได้ดำเนินการกำหนดข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ใช้งานที่ต้องการใช้ลายมืออิเล็กทรอนิกส์สามารถเลือกใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยออกกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งพระราชกำหนดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางให้สามารถจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรองรับผลทางกฎหมายได้ • ธปท. ได้ดำเนินการปรับปรุงและผลักดันกฎหมาย เพื่อรองรับการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาระบบ National Digital Identity (NDID) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ |
|
7. การขยายฐานนักลงทุน ควรขยายฐานนักลงทุนทั้งในผลิตภัณฑ์เงินฝากกองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ และหุ้นรายย่อย เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีภูมิต้านทานต่อความผันผวน |
• กค. ได้ดำเนินการออกมาตรการต่างๆ เช่น การพัฒนา Digital Infrastructure เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน การพัฒนา Platform เพื่อสนับสนุนให้ SMEs และ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาวโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF) • ธปท. ได้พัฒนาระบบงานจำหน่ายพันธบัตรภายใต้โครงการ DLT Scripless Bond เพื่อลดขั้นตอนในการตรวจสอบ ช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับพันธบัตรเร็วขึ้น และผลักดันให้คนไทยลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย |
|
8. การยกระดับภาคการเงินให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance) |
• กค. รายงานว่า สำนักงาน กลต. มีการส่งเสริมจัดทำแนวทางการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อเพิ่มคุณภาพในการรายงาน การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และ กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้มีการจัดทำกรอบการจัดหาเงินเพื่อความยั่งยืนของราชอาณาจักรไทยและได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน โดยเป็นรุ่นแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาล วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท • ธปท. ได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรในภาคการเงิน โดยจัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum เพื่อสนับสนุนให้ภาคสถาบันการเงินดำเนินธุรกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน และได้นำหลักการ ESG ไปปฏิบัติจริง โดยจัดทำแนวทาง/ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาคการเงินมีการดำเนินการและนโยบายที่สอดคล้องกัน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6727
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ