สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 June 2021 22:31
- Hits: 5411
สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2564 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอดังนี้
สาระสำคัญ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) ซึงได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศปี 2564 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 โดยมีประเด็นที่สำคัญรวม 4 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้
1. ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบัน IMD ในปี 2564
1.1 ประเทศที่อยู่ในอันดับ 1-5 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (เพิ่มขึ้น 2 อันดับ) สวีเดน (เพิ่มขึ้น 4 อันดับ) เดนมาร์ก (ลดลง 1 อันดับ) เนเธอร์แลนด์ (คงเดิม) และ สิงคโปร์ (ลดลง 4 อันดับ) ตามลำดับ ส่วนฮ่องกง และประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งที่ผ่านมาอยู่ใน 5 อันดับแรก มีผลการจัดอันดับลดลงไปอยู่ที่อันดับ 7 และ 10 ในปี 2564
1.2 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 28 (จากอันดับที่ 29 ในปี 2563) แม้ว่าจะมีคะแนนรวมลดลงเป็น 72.519 คะแนน จาก 75.387คะแนน โดยยังคงรักษาระดับอยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ โดยอันดับที่ 1-5 ในกลุ่มอาเซียนได้แก่ (1) สิงคโปร์ (ลดลง 4 อันดับมาอยู่อันดับที่ 5) (2) มาเลเซีย (ดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25) (3) ไทย (4) อินโดนีเซีย (ดีขึ้น 3 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 37) และ (5) ฟิลิปปินส์ (ลดลง 7 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 52)
1.3 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจทั่วโลกจำนวน 64 เขตเศรษฐกิจ (เพิ่มขึ้น 1 เขตเศรษฐกิจจากปี 2563 โดยเขตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นได้แก่ สาธารณรัฐบอตสวานา) และใช้เกณฑ์ชี้วัดที่นำมาใช้พิจารณาในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 334 ตัวชี้วัด (รวมตัวชี้วัดประเภท Hard Data, Survey Data และ Background Information) ใน 4 กลุ่มปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ(Economic Performance) ดัชนีย่อย 81 ตัวชี้วัด 2) ประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ดัชนีย่อย 72 ตัวชี้วัด และ 3) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ดัชนีย่อย 74 ตัวชี้วัด และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ดัชนีย่อย 107 ตัวชี้วัด ด้วยน้ำหนักคะแนนร้อยละ 25 เท่ากันทั้ง 4 กลุ่มเกณฑ์ชี้วัด แม้ว่าจะมีจำนวนดัชนีย่อยของแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน
2. การวิเคราะห์ผลการจัดอันดับ
2.1 ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีอันดับดีขึ้นจากประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ที่ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 เป็นผลจากภาพลักษณ์ความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐที่มีการปรับตัวดีขึ้น และการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีการปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 21 เนื่องจากความพยายามของภาครัฐและภาคธุรกิจที่สนับสนุนการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรให้อยู่รอดในตลาดแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และการศึกษา (Infrastructure) ยังคงปรับตัวดี 1 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 43 เนื่องจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
2.2 อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลงถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 21 จากอันดับที่ 14 ในปี 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การค้าและการลงทุนของประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการส่งออกสินค้า และสถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการปรับตัวลดลงของตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับที่ได้รับผลกระทบจากชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (Growth)
ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
โดย IMD ระหว่างปี 2563 และ 2564
ความสามารถในการแข่งขันของไทย |
อันดับ ปี 2564 |
อันดับ ปี 2563 |
การเปลี่ยนแปลง ของอันดับ |
อันดับรวมของประเทศไทย (จาก 64 ประเทศ) |
28 |
29 |
↑1 |
1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) |
21 |
14 |
↓7 |
1.1 เศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) |
41 |
38 |
↓3 |
1.2 การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) |
21 |
5 |
↓16 |
1.3 การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) |
32 |
29 |
↓3 |
1.4 การจ้างงาน (Employment) |
3 |
10 |
↑7 |
1.5 ระดับราคา (Prices) |
37 |
28 |
↓9 |
2. ประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) |
20 |
23 |
↑3 |
2.1 การคลังสาธารณะ (Public Finance) |
14 |
17 |
↑3 |
2.2 นโยบายด้านภาษี (Tax Policy) |
4 |
5 |
↑1 |
2.3 กรอบการบริหารด้านสถาบัน (Institution Framework) |
36 |
40 |
↑4 |
2.4 กฎหมายด้านธุรกิจ (Business Legislation) |
30 |
33 |
↑3 |
2.5 กรอบทางสังคม(Social Framework) |
43 |
40 |
↓3 |
3. ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) |
21 |
23 |
↑2 |
3.1 ผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) |
40 |
41 |
↑1 |
3.2 ตลาดแรงงาน (Labor Market) |
10 |
15 |
↑5 |
3.3 การเงิน (Finance) |
24 |
24 |
- |
3.4 การบริหารจัดการ (Management Practices) |
22 |
21 |
↓2 |
3.5 ทัศนคติและค่านิยม(Attitudes and Values) |
20 |
20 |
- |
4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) |
43 |
44 |
↑1 |
4.1 สาธารณูปโภคพื้นฐาน (Basic Infrastructure) |
24 |
26 |
↑2 |
4.2 โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) |
37 |
34 |
↓3 |
4.3 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure) |
38 |
39 |
↑1 |
4.4 สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environment) |
49 |
49 |
- |
4.5 การศึกษา (Education) |
56 |
55 |
↓1 |
ที่มา : IMD World Competitiveness Yearbook 2020
3. ข้อพิจารณาเพื่อสั่งการ
สำนักงานฯ ขอเสนอประเด็นการขับเคลื่อนที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไปดังนี้
3.1 ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มที่อันดับดีอยู่แล้วให้สามารถรักษาอันดับไว้ให้ได้ต่อเนื่อง และในกลุ่มที่ความสามารถในการแข่งขันยังต่ำและ/หรือมีแนวโน้มลดลง เพื่อให้การดำเนินนโยบาย/แผนงาน/โครงการภาครัฐที่ส่งผลต่อกลุ่มตัวชี้วัดเหล่านี้มีประสิทธิผลชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มตัวชี้วัดที่มีอันดับตกลงมากจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผ่านการเร่งรัดการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการของหน่วยงานภาครัฐและสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินการ
3.2 ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานเร่งพัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย มีความพร้อมใช้งานและสะท้อนสถานการณ์การพัฒนาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ในการวางนโยบาย รวมถึงจัดทำกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ได้จริง รวมทั้งเร่งปรับระบบการบริหารจัดการ กระบวนการทำงาน กระบวนการให้บริการประชาชน และภาคธุรกิจให้เป็นระบบดิจิทัลโดยเร็ว
3.3 สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายและใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อกลางในการสื่อสารมากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนักถึงความคืบหน้าการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาทและโอกาสในการสนับสนุนการติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3.4 ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพวิทยาศาสตร์และดิจิทัลให้ดำเนินไปได้ตามเป้าหมายและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระบบโลจิสติกส์ในทุกรูปแบบ
3.5 พัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงและโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว รวมถึงปรับระบบการศึกษาของไทยให้มีความทันสมัย เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
4. แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) จะจัดประชุมร่วมรัฐและเอกชนเพื่อการสร้างความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาที่ยังเป็นจุดอ่อนและกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งการประชุมกับหน่วยงานเจ้าภาพตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องเพื่อการติดตามและผลักดัน แผนงานและโครงการ ที่จะช่วยยกอันดับตัวชี้วัด และรายงานผลการดำเนินงานเพื่อทราบตามขั้นตอนต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6722
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ