การแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 June 2021 21:41
- Hits: 6381
การแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทยเพื่อดำเนินการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) และอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทยข้างต้น ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Sub-Committee on Rules of Origin: SCROO) ภายใต้ JTEPA ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของ JTEPA เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์ (Product Specific Rules: PSRs) จากพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System: HS) ฉบับปี ค.ศ. 2002 (HS 2002) (5,347 ประเภทพิกัดย่อย) เป็นพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ ปี ค.ศ. 2017 (HS 2017) (5,475 ประเภทพิกัดย่อย) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น เช่น
1.1 การปรับโอนกฎเฉพาะรายสินค้าจากพิกัดระบบ HS 2002 เป็น HS 2017
1.2 การแก้ไขประเภทย่อยที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการปรับโอน PSRs ของพิกัด HS2002 เป็น HS2017 เช่น
(1) กรณีพิกัดศุลกากรไม่เปลี่ยนแปลง เช่น สุกรมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์
(2) กรณีพิกัดศุลกากรเก่าหายไป เช่น สารประกอบอนินทรีย์อื่นๆ
(3) กรณีการย้ายพิกัดศุลกากร เช่น อนุพันธุ์ชนิดฟลูออริเนเต็ด โบรนิเมเต็ด หรือไอโอดิเนเต็ดของอะไซคลิกคาร์บอน
(4) กรณีพิกัดศุลกากรเพิ่มขึ้น เช่น สารประกอบอนินทรีย์หรืออินทรีย์อื่นๆ ของปรอท
(5) กรณีพิกัดศุลกากรมีการควบรวม เช่น พรรณไม้และส่วนของพรรณไม้อื่น ใช้ประโยชน์ทางเครื่องหอมหรือในทางเภสัชกรรม
ทั้งนี้ พิกัดศุลกากรที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การเจรจาเพิ่มใหม่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นการรวมเกณฑ์ที่เหมือนกันเข้าด้วยกันกับประเภทพิกัดก่อนหน้า เป็นต้น และหากไม่มีการปรับพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ตามที่ กต. เสนอในครั้งนี้ จะทำให้มีความยุ่งยาก ไม่สะดวกทางการค้า ส่งผลให้ผู้นำเข้าใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสารประกอบการนำเข้ามากขึ้น และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มต้นทุนทางการค้าในเรื่องภาระค่าภาษี หากมีการปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากรผิดพลาด
1.3 การเพิ่มคำอธิบายความหมายของเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ได้แก่ เกณฑ์ QVC 40 (หมายถึง สินค้าที่มีสัดส่วนมูลค่าที่ได้คุณสมบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และขั้นตอนการผลิตสุดท้ายของสินค้านั้นจะต้องเกิดขึ้นในภาคี) เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัด และ WO (หมายถึง สินค้าได้มาทั้งหมดหรือมีการผลิตขึ้นทั้งหมดภายในภาคี) อีกทั้งแก้ไขฉบับปีของพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ที่ใช้ในตาราง PSRs จาก HS2002 เป็น HS2017 เป็นต้น
ซึ่งการแก้ไขภาคผนวก 2 ดังกล่าว SCROO จะต้องเสนอให้ JC พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตต่อไป
2. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการสำหรับการแก้ไขเอกสารขั้นตอนการดำเนินการ (Operational Procedures – OP) และการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ของ JTEPA โดยเสนอให้ JC ภายใต้ JTEPA พิจารณาทางช่องทางทางการทูตให้ประธาน JC ของแต่ละฝ่ายแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างกันเพื่อรับรองเอกสาร OP ฉบับแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ของ JC ตามข้อ 13 ของ JTEPA และเสนอ ร่างภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ฉบับแก้ไขให้รัฐบาลของแต่ละฝ่ายพิจารณาเห็นชอบตามที่ระบุไว้ในข้อ 171 (2) (a) ของ JTEPA ซึ่งระบุว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขโดยการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต (diplomatic notes) ระหว่างรัฐบาลของคู่ภาคี ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างประธาน JC ของแต่ละฝ่าย เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 และเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามกระบวนการภายในของแต่ละฝ่ายเพื่อให้การแก้ไขเอกสาร OP และการแก้ไขภาคผนวก 2 (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2564
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6719
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ