ผลการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 June 2021 01:41
- Hits: 467
ผลการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการศึกษา เรื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้านการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) พิจารณาปรับแนวทางการนำนโยบายมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐสู่การปฏิบัติ 2) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ 3) สร้างมาตรกการที่ส่งเสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 4) สร้างมาตรการจูงใจแก่ภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 5) ยกระดับผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งเสริมพืชเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น 6) สร้างมาตรการเพื่อกระตุ้นบรรยากาศในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชน และ 7) พัฒนาฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) พิจารณาแล้วมีคำสั่งมอบหมายให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่าได้ดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการสรุปผลการพิจารณาดำเนินการในภาพรวมของรายงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กก. พม. กษ. ดศ. พณ. มท. รง. อว. อก. สศช. สสว. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 1 แล้ว ซึ่งมีผลการพิจารณาเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
1. พิจารณาปรับแนวทางการนำนโยบายมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐสู่การปฏิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดโครงการภายใต้ 5T ตามข้อเสนอของกรรมาธิการฯ แล้ว และได้มีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยให้สถาบันการเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี
2. การให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นสู่ความมั่นคงในเศรษฐกิจ การจัดทำหลักสูตรอาชีพออนไลน์ การจัดทำตลาดนัดออนไลน์ การให้บริการจัดหางานของศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย
3. การสร้างมาตรการที่ส่งเสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น พัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและที่ดินทำกิน โครงการ Digital Village by DBD พัฒนาชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ ผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่การค้าออนไลน์ โดยผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace
4. การสร้างมาตรฐานการจูงใจแก่ภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการประกวด SME Start up Awards ปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SME ตื่นตัวพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ทั้งระดับประเทศและระดับสากล รวมทั้งดำเนินการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับประธานหรือผู้บริหารเครือข่ายธุรกิจเพื่อพัฒนาความรู้และการตลาดสมัยใหม่
5. การยกระดับผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งเสริมพืชเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการ เช่น โครงการควบคุมระบบให้น้ำอัตโนมัติภาคการเกษตร โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล รวมทั้งได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐานสินค้าในระดับ OTOP Select
6. การสร้างมาตรการเพื่อกระตุ้นบรรยากาศในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าปศุสัตว์ โดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และได้มีโครงการสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยวในรูปแบบ Creative Tourism
7. การพัฒนาฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร และได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ รวมถึงดำเนินการพัฒนาระบบคลาวด์ภาครัฐ ซึ่งสามารถรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามหน่วยงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6540
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ