ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 June 2021 01:32
- Hits: 300
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสร้างสังคมแห่ง การเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ดังนี้ 1) ส่งเสริมให้มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และให้มีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ 2) ผลักดันรัฐบาลโดยกำหนดให้มีการส่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ และให้มีคณะกรรมการระดับชาติที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน 3) สนับสนุนให้ทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สื่อทุกแขนง รวมถึงสื่อบุคคล และองค์กรวิชาชีพสื่อร่วมกันเสนอแนะข้อมูล ความรู้ ที่ถูกต้องในการรับมือกับภัยที่มากับสื่อ 4) ผลักดันให้ภาครัฐจัดสรรพื้นที่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหลากหลาย จริงจัง และเป็นรูปธรรม และ 5) สนับสนุนและผลักดันให้มีการร่างกฎหมายกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ดศ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ควรส่งเสริมให้มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และให้มีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ |
กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ประจำปี การจัดทำชุดความรู้ในประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน เช่น แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ การพนันออนไลน์ อีสปอร์ต ในส่วนแผนการดำเนินงานปี 2564 ได้มีการจัดทำ ตรสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการใช้สื่อออนไลน์ การพัฒนาและจัดทำหลักสูตร E-learning เพื่อการคุ้มครองเด็กในประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน |
|
2. ผลักดันรัฐบาลโดยกำหนดให้มีการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ และให้มีคณะกรรมการระดับชาติที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน |
กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีองค์ประกอบจาก หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายภายใต้การบูรณาการร่วมกัน ได้ดำเนินงานเชิงนโยบายภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกระดับพื้นที่ประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัด |
|
3. สนับสนุนให้ทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สื่อทุกแขนง รวมถึงสื่อบุคคล และองค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมกันเสนอแนะข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องในการรับมือกับภัยที่มากับสื่อ เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาในการใช้สื่อ |
ดศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสวนา เวทีนโยบายสาธารณะและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ประเด็นการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และการผลิตสื่อความรู้และสื่อประชาสัมพันธ์ ประเด็นการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีการดำเนินโครงการจัดทำแนวทางป้องกันและส่งเสริมการตระหนักรู้ของเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับสังคมดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ โครงการจัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อดิจิทัล ในส่วนแผนการดำเนินงาน ปี 2564 มีการจัดเวทีมหกรรมเด็กและเยาวชนไทยกับสื่อออนไลน์ โครงการการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) เพื่อนำมาพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัล และพัฒนาให้เป็น อสด. ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ดิจิทัลให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่ม ทุกวัย ในทุกชุมชน/หมู่บ้านทั่วประเทศ พร้อมทั้งจะพัฒนาพื้นที่นำร่องในแต่ละจังหวัด และโครงการวิเคราะห์สถานการณ์และพฤติกรรมเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันและส่งเสริมการตระหนักรู้ของเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ |
|
4. ผลักดันให้ภาครัฐจัดสรรพื้นที่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหลากหลาย จริงจัง และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ และกองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดสรรให้มีโครงการสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนจะได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำในกิจกรรมหรือโครงการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและความสนใจ |
กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 (ปีงบประมาณ 2561, ปีงบประมาณ 2563) การประกวดสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ปีงบประมาณ 2562) ในส่วนแผนการดำเนินงานปี 2564 มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต้นแบบ 20 จังหวัด ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ |
|
5. สนับสนุนและผลักดันให้มีการร่างกฎหมายกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน และให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับเกมส์ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม คำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามกติกาสากลเป็นสำคัญ |
กรมกิจการเด็กและเยาวชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากการใช้สื่อออนไลน์ จัดทำร่างบทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์ และจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็ก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ในส่วนแผนการดำเนินงาน ปี 2564 มีการผลักดันร่างระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงร่างบทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์จากความเห็นในเวทีประชาพิจารณ์ การเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็กระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ที่แก้ไขตามข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6539
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ