รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 June 2021 00:50
- Hits: 358
รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 และรายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2561 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบร่างรายงานดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับแล้ว และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ได้นำร่างรายงานฯ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ สาระสำคัญของรายงานฯ มีการนำเสนอภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สถานการณ์และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ระดับภูมิภาค และภายในประเทศ รวมทั้งข้อมูลที่สำคัญอื่น ดังนี้
1.1 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา จำนวน 11 สาขา ในช่วง พ.ศ. 2562 - เดือนมิถุนายน 2563 สรุปได้ ดังนี้
รายการ |
รายละเอียด |
สาขาที่มีการเปลี่ยนแปลง ไปในทิศทางที่ดีขึ้น |
(1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น (2) ทรัพยากรแร่การผลิตและการใช้แร่ลดลง (3) พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น (4) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น (5) ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์เพิ่มขึ้น (6) สิ่งแวดล้อมชุมชน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่มขึ้น และ (7) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สถานภาพแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี |
สาขาที่มีการเปลี่ยนแปลง ในทิศทางที่ควรเฝ้าติดตาม |
(1) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พื้นที่ป่าไม้คงที่ แต่พื้นที่ไฟไหม้ ความรุนแรงของไฟไหม้ รวมทั้งจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ในสถานการณ์ที่ควรเฝ้าติดตาม (2) ทรัพยากรน้ำ ปริมาณฝนลดลง ทำให้ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำใช้การได้ลดลง รวมทั้งน้ำบาดาลมีระดับลดลงด้วย (3) สถานการณ์มลพิษ คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ หมอกควันจากไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น และ (4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นและปริมาณฝนเฉลี่ยลดลง |
1.2 ประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2563 มีจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1) การบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ |
ลุ่มน้ำยมมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งและเอ่อท่วมพื้นที่ตลอด 2 ข้างลำน้ำ ที่ผ่านมาได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและอาคารควบคุมน้ำประเภทต่างๆ อาทิ ประตูระบายน้ำ ฝาย แก้มลิง และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก แต่ก็สามารถเก็บน้ำได้เพียงส่วนน้อยของปริมาณน้ำทั้งหมด ทำให้ปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัยยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำ ดังนั้น หน่วยงานที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศหลายหน่วยงานได้บูรณาการข้อมูล และการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกระดับ มีแผนการศึกษาเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ประตูระบายน้ำ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ซึ่งบางโครงการก่อสร้างแล้วและบางโครงการอยู่ระหว่างการศึกษา ทำให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม และการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น |
|
2) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล |
ในปี 2562 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานและค่าเฉลี่ยรายปีลดน้อยลงจากปี 2561 และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยรายปี ตั้งแต่ปี 2554 - 2562 พบว่า มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานและค่าเฉลี่ยรายปีลดน้อยลง โดยปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สูงขึ้น ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน มีแหล่งกำเนิดมลพิษสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ การจราจร โดยเฉพาะยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การเผาในที่โล่งเพื่อกำจัดเศษวัสดุการเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ โดยมีการกำหนดเป็นมาตรการระยะเร่งด่วน/ช่วงวิกฤต ระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564) และระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) การลดมลพิษ ณ แหล่งกำเนิด โดยการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถยนต์ รณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัว และสนับสนุนการใช้รถสาธารณะ การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้กับประชาชนและสถานศึกษา เผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศ และแจ้งเตือนผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศแก่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ |
|
3) ไฟไหม้ป่า |
ในปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) พบว่า พื้นที่ถูกไฟไหม้เกือบทุกภาคเพิ่มขึ้นจากปี 2562 สอดคล้องกับจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั้งประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือและในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2563 พบจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และพบจุดความร้อนสะสมหนาแน่นมากกว่า 5 จุดต่อตารางกิโลเมตร ในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ และจากสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ย้อนหลัง 8 ปี - 2562) ที่สถานีตรวจวัดศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงค่าฝุ่นละออง PM2.5 คล้ายคลึงกันโดยมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปีและมีค่าสูงสุดในเดือนมีนาคม ไฟไหม้ป่าส่งผลให้มีปริมาณฝุ่นละออง PM10 และปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายด้าน รวมถึงผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ป้องกันไฟไหม้ป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการจุดไฟบริเวณแนวเขตป่า ส่งเสริมความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ปลอดการเผา ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจัดทำแผนที่จำแนกพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ลาดตระเวนตรวจปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการตรวจติดตามข้อมูลจุดความร้อนสำหรับการจัดการเชื้อเพลิง เช่น จัดทำแนวกันไฟ การชิงเผา เปิดโอกาสให้มีการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานดับไฟป่า และใช้ระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ในช่วงวิกฤต |
|
4) ระบบสาธารณสุขชุมชน ภายใต้สภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ 19 |
ในพื้นที่ กทม. มีตัวเลขสะสมของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากกว่าพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การคมนาคม การท่องเที่ยว และมีประชากรอาศัยหนาแน่น จึงทำให้ กทม. สั่งปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และมีมาตรการ เช่น ส่งเสริมการเว้นระยะห่าง เกิดการใช้ชีวิตวิถีใหม่จากมาตรการดังกล่าวทำให้ กทม. มีคุณภาพอากาศดีขึ้น และมีปริมาณขยะมูลฝอยลดลง โดยในปี 2563 ขยะมูลฝอยทั่วไปมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 แต่สัดส่วนของขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จากการสั่งสินค้าออนไลน์ หรือการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น กทม. จึงได้จัดเก็บและกำจัด โดย (1) มูลฝอยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จัดส่งศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อส่งให้ผู้ประกอบการเอกชนนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม (2) ขยะมูลฝอยทั่วไปจากสถานที่ทำงานหรือบ้านที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักเขตพื้นที่นั้นๆ จะฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาวและขนส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย และ (3) มูลฝอยติดเชื้อจากศูนย์กักกันโรงแรมสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ประกอบการเอกชนจัดรถเฉพาะขนส่งมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม |
1.3 การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้มีการ สรุปสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวม คาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตพร้อมนำเสนอประเด็นที่ควรเร่งแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จำนวน 4 เรื่อง รวมทั้งได้เสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายทั้งในระยะสั้น (1 - 2 ปี) และระยะยาว (3 - 10 ปี) ดังนี้
1.3.1 การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต จากข้อมูลสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาและประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2563 มีประเด็นที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นและควรเร่งแก้ไขปัญหา จำนวน 4 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1) การบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ |
ปัญหา การขาดแคลนน้ำเพื่อนำมาใช้ในภาคการเกษตร การรักษาระบบนิเวศ การบริโภคของชุมชนและภาคอุตสาหกรรมในช่วงฤดูแล้ง และการเกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การเปิดโอกาสให้ชุมชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายได้เข้ามามีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำหนดกลยุทธ์ การจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรของน้ำ พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยา |
|
2) ฝุ่นละออง PM2.5 |
ปัญหา ฝุ่นละออง PM2.5 มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยมีแหล่งกำเนิดสำคัญจากการคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดน แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การรณรงค์ให้ความรู้เพื่อลดการเผาในที่โล่ง การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคล การลดการปล่อยมลพิษทางอากาศของโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการมีระบบเตือนภัยให้มีการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ กทม. และปริมณฑล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี |
|
3) ไฟไหม้ป่า |
ปัญหา ไฟไหม้ในพื้นที่ป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือ สาเหตุของไฟไหม้ป่าส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของพื้นที่ รวมถึงทำให้มีปริมาณฝุ่นละออง PM10 และฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การให้ความรู้และรณรงค์ขอความร่วมมืองดเว้นการจุดไฟบริเวณแนวเขตป่า ส่งเสริมความรู้การทำเกษตรปลอดการเผา ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจัดทำแผนที่จำแนกพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ตรวจติดตามข้อมูลจุดความร้อน นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับบินสำรวจและสนับสนุนการปฏิบัติงาน พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย ตาก น่าน แพร่ พะเยา และลำพูน พื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ป่าพรุบาเจาะและป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาส |
|
4) การจัดการระบบสาธารณสุขชุมชนภายใต้สภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 |
ปัญหา จากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ได้แก่ การมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบของขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ รวมถึงมีมูลฝอยติดเชื้อจากผู้ที่ต้องสังเกตอาการและผู้ที่ติดเชื้อปะปนในขยะมูลฝอยชุมชน แนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และกรณีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ ควรมีการคำนึงถึงการลดปริมาณขยะมูลฝอย และคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง และพิจารณาคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นและระบุข้อความว่า “ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน และส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่เขตเมืองในทุกจังหวัด ชุมชนแออัด พื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก |
1.3.2 ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย มีทั้งมาตรการในระยะสั้น (1 – 2 ปี) และระยะยาว (3 – 10 ปี) ดังนี้
1) มาตรการระยะสั้น (1 – 2 ปี)
มาตรการ |
ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ |
|
(1) พัฒนาการใช้ระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อม โดยการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายระบบฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยมีเครือข่ายศูนย์ข้อมูลที่ทำหน้าที่ในการติดตาม กำกับ สังเคราะห์ และใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ หรือภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มศักยภาพให้แก่ อปท. และชุมชนที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น |
- สผ. - กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
|
(2) คุ้มครองพื้นที่ที่มีความสำคัญหรือมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชายฝั่งทะเล เกาะ แหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ หรือหายาก ย่านชุมชนเก่า แหล่งศิลปกรรมและแหล่งโบราณสถาน ควรมีมาตรการที่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และรักษาพื้นที่ที่สำคัญและได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน |
- สผ. - กรมศิลปากร - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
|
(3) สร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้ในการผลิตและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดมลพิษในหลายด้าน ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นและปล่อยมลพิษจากการบริโภคมากขึ้น ดังนั้น จึงควรให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกและความตระหนักให้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางที่หลากหลาย |
- สผ. - กรมควบคุมมลพิษ - กรมประชาสัมพันธ์ |
2) มาตรการระยะยาว (3 – 10 ปี)
มาตรการ |
ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ |
|
(1) ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจจากการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการ ซึ่งผู้ผลิตสินค้าและบริการได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริโภคสินค้าและบริการที่เกินความจำเป็นทำให้เพิ่มการเกิดของเสีย และเป็นภาระในการบำบัดภายหลัง ดังนั้น จึงควรส่งเสริมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
- สผ. - กรมควบคุมมลพิษ - สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง - กรมโรงงานอุตสาหกรรม - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - หอการค้าไทย |
|
(2) ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากการถูกทำลาย โดยการตัดไม้ เผาป่า การบุกรุกเพื่อทำการเกษตร ที่อยู่อาศัย และรีสอร์ท นอกจากนี้ มีทรัพยากรอื่นที่ถูกทำลาย อาทิ พื้นที่ชายฝั่งที่เผชิญปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ชุ่มน้ำตื้นเขินและเสื่อมโทรม แนวปะการังและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม รวมถึงแหล่งธรรมชาติ และแหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ ที่ควรได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ |
- สผ. - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - กรมป่าไม้ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - กรมควบคุมมลพิษ - กรมศิลปากร |
|
(3) ผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติ ควรส่งเสริมการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเผยแพร่ให้มีการนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถรองรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ - สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ - สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) |
2. รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 โดย ทส. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รายงานผลการดำเนินงานดังกล่าว มีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้
2.1 ผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2561 จากทั้งหมด 119 ข้อเสนอแนะ 11 สาขา หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน จำนวน 111 ข้อเสนอแนะ (ร้อยละ 93 ของข้อเสนอแนะทั้งหมด) และยังดำเนินการได้ไม่ครบถ้วน 8 ข้อเสนอแนะ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มผลการดำเนินการ |
รายละเอียดสาขา |
ข้อเสนอแนะฯ ที่ดำเนินการได้ ร้อยละ 100 ของข้อเสนอแนะทั้งหมด |
มี 8 สาขา ได้แก่ (1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน (2) พลังงาน (3) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (4) ทรัพยากรน้ำ (5) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (6) ความหลากหลายทางชีวภาพ (7) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม และ (8) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (รวมทั้งสิ้น 62 ข้อเสนอแนะ) |
ข้อเสนอแนะฯ ที่ดำเนินการได้ ร้อยละ 70 – 90 ของข้อเสนอแนะทั้งหมด |
มี 3 สาขาได้แก่ (1) ทรัพยากรแร่ (2) สถานการณ์มลพิษ และ (3) สิ่งแวดล้อมชุมชน (รวมทั้งสิ้น 57 ข้อเสนอแนะ มีข้อเสนอแนะที่ดำเนินการได้ร้อยละ 70 – 90 จำนวน 8 ข้อเสนอแนะ โดยสาเหตุที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น เป็นโครงการขนาดใหญ่ข้ามเขตจังหวัด เป็นโครงการที่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน เป็นการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่ต้องใช้งบประมาณสูง เป็นต้น |
2.2 ปัญหาและอุปสรรคในภาพรวมจากการติดตามการดำเนินงานโครงการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ และแนวทางแก้ไขปัญหา มีดังนี้
ปัญหาและอุปสรรค |
แนวทางแก้ไขปัญหา |
|
1) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบางเรื่องยังขาดนโยบายการดำเนินงาน ทำให้ไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน |
จัดทำหรือกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเด็น หรือสาขาให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน ลดการดำเนินงานซ้ำซ้อนกัน |
|
2) เจ้าหน้าที่ อปท. ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการตามข้อกำหนดของผังเมือง ส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่ไม่สอดคล้องกับผังเมือง |
พัฒนาบุคลากรใน อปท. ให้มีองค์ความรู้ด้านผังเมืองโดยเฉพาะการอนุญาตพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปตามสีของผังเมือง รวมถึงการวางระบบระบายน้ำ |
|
3) ประชาชนยังขาดความรู้และความเข้าใจด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงขาดความรู้ความเข้าใจค่ามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมทำให้ไม่มีการป้องกันร่างกายที่ถูกต้อง |
สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความตระหนักและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงมีความเข้าใจเกณฑ์มาตรฐานมลพิษเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและเฝ้าระวังมลพิษที่เกิดขึ้น |
|
4) การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เคร่งครัด |
บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงผิดกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ป่า |
|
5) อปท. ยังไม่มีการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียชุมชนได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากขาดงบประมาณการก่อสร้างและดำเนินการ ตลอดจนขาดบุคลากรที่จะมาบริหารจัดการระบบดังกล่าว |
เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. โดยให้มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยและระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับศักยภาพของ อปท. |
|
6) การประยุกต์ผลการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรแร่ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการจัดการมลพิษมีน้อย |
ส่งเสริมการทำวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับสถาบันการศึกษา และสนับสนุนการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ |
|
7) ระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่มีการพัฒนาให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำข้อมูลไปวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น |
|
8) เครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ไม่ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ |
สนับสนุนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานของเครือข่าย เช่น การติดตั้งระบบเตือนภัย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6535
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ