รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 June 2021 00:32
- Hits: 294
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยไปสู่สังคมสูงอายุ ตั้งแต่ประมาณปี 2548 มีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือมีจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในปี 2564 และคาดว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อสภาพสังคม สภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการสาธารณสุข การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่ง กสม. ได้ติดตามสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุในทุกมิติ รวมถึงปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐในการรองรับสังคมสูงอายุ จึงเห็นว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องได้รับการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิต่างๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี
2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ และจากการที่ กสม. ได้ติดตามสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุพบว่า การเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุยังมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ บุคลากร กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กสม. จึงศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิของผู้สูงอายุในทุกมิติ รวมถึงปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐในการรองรับสังคมสูงอายุ และได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงาน ก.พ. (ก.พ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ พม. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า ได้พิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กค. คค. มท. ยธ. รง. ศธ. สธ. สคก. สปสช. และ สำนักงาน ก.พ. ด้วยแล้ว สรุปผลการพิจารณาในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณา |
|
1. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ |
||
1.1 ควรพิจารณาการกำหนดนโยบายและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยผู้สูงอายุของสหประชาชาติ โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีรูปแบบภารกิจที่ชัดเจน และดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมเพื่อจะได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติให้บรรลุผลได้ อันเป็นการรองรับประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างเต็มรูปแบบ |
- พม. ได้ผลักดันมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ (เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมายรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมสูงวัยของประเทศไทยและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) - ควรจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในประเด็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ - รง. ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ พ.ศ. 2562 การจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย การส่งเสริมสวัสดิการแก่แรงงานกลุ่มพิเศษ(ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส) โดยการส่งเสริมแนะนำการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีลูกจ้างเป็นคนพิการและผู้สูงวัยแล้ว |
|
1.2 ควรสนับสนุนกลไกระดับท้องถิ่นให้เป็นหน่วยงานดำเนินงานในเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริม คุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนผู้สูงอายุแห่งชาติที่กำกับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนการกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 เพื่อจะได้ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในเชิงพื้นที่ |
- การทบทวนแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทั้งอำนาจหน้าที่ ภารกิจ และงบประมาณ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน รวมทั้งต้องพิจารณาความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินภารกิจต่างๆซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. โดยได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา - การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ต้องคำนึงถึงหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น . ประกอบการแก้ไขกฎหมายด้วย - พม. ได้สนับสนุนกลไกระดับท้องถิ่น โดยถ่ายโอนภารกิจเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ งส่วนท้องถิ่นแล้ว |
|
1.3 ควรพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานคุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ และการรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมไทยสร้างจิตสำนึกในคุณธรรมและหน้าที่ของครอบครัว และสร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุภายใต้สถาบันครอบครัวและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดจิตอาสาในการให้บริการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่บุคลากรของรัฐ และประชาชนทั่วไป |
- ควรจัดหามาตรการจูงใจให้มีการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ในเชิงภาษี เพื่อจูงใจแรงงานที่มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรม เพื่อการดูแลผู้สูงอายุต่างๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุฉบับต่างๆ ให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนที่จำเป็นให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองไม่ได้พิจารณาศึกษาการปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ เช่น ปัญหาสุขภาพและโรคประจำตัว และพื้นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องแบกรับอย่างแท้จริง - รง. มีกฎหมายภายใต้ความรับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองลูกจ้างทั้งที่เป็นเด็ก ผู้หญิงมีครรภ์ และผู้สูงอายุให้ได้รับการคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว - สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภารกิจในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเติม จะต้องคำนึงถึงหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งแต่ละฉบับและตามกฎหมายเฉพาะในแต่ละเรื่อง รวมทั้งแผนการกระจายอำนาจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และใช้บังคับต่อไปในอนาคตด้วย |
|
1.4 สิทธิในที่อยู่อาศัย ควรสนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแนวคิด “การตรึงผู้สูงอายุให้อยู่กับชุมชน” เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงใช้ชีวิตในชุมชนและสังคมได้โดยอิสระ |
- พม. ได้ส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในที่พักอาศัยและสถานที่สาธารณะ โดยดำเนินการภายใต้ระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุและการเสริมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ พ.ศ. 2562 แล้ว - การจัดสรรงบประมาณต้องให้เพียงพอต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมบ้านให้เหมาะสมปลอดภัยกับผู้สูงอายุ และสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ มีความจำเป็นต้องให้อำนาจโดยการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้สูงอายุ |
|
1.5 สิทธิด้านสุขภาพ ควรสนับสนุนการดำเนินงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้เหมาะสมตามระดับความสามารถในการช่วยเหลือตนเองทั้งในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคติดต่ออันตราย |
- สธ. ควรผลักดันกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ ที่สนับสนุนให้เกิดระบบ Long - term care infrastructure ในระดับท้องถิ่น โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการ ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งการจัดบริการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ (Day care) เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงต้องมีหน่วยงานที่มีภารกิจหลักกำหนดแนวทาง เพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ - ควรมีมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุด้านสุขภาพโดยจัดอบรมระยะสั้น และระยะยาว โดยมีแผนความร่วมมือและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง - สธ. ได้จัดทำมาตรการประเมินเพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันการติดโรคติดต่ออันตรายให้กับสถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุผ่านระบบ Program Thai Stop COVID และจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรสาธารณสุข แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานดูแลผู้สูงอายุภาครัฐและภาคเอกชน คำแนะนำสำหรับญาติ หรือผู้มาติดต่อ รวมทั้งจัดทำแนวทางปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 สำหรับประเภทกิจการและกิจกรรม กลุ่มที่ 2 แล้ว - พม. ได้จัดทำคู่มือแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และคู่มือมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 ของสถานดูแลผู้สูงอายุแล้ว - พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุในเชิงหลักการอยู่แล้ว และได้ดำเนินการด้านการเงิน เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพ หรือเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมในภาพใหญ่และบางเรื่องได้ดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนทราบ เช่น การดูแลในระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง |
|
1.6 สิทธิในหลักประกันรายได้ ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงสิทธิในหลักประกันรายได้ด้วยการสนับสนุนการออมตามระดับความสามารถ เพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังพ้นการทำงานและสร้างความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนการออมภาคบังคับ |
ควรส่งเสริม สนับสนุน ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ สภาเด็กและเยาวชน สมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้มีองค์ความรู้ในการออมเงินรองรับวัยเกษียณ โดยจัดหามาตรการส่งเสริมการออม ส่งเสริมการออมภาคบังคับ เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณ สามารถดำรงชีพได้ และช่วยเหลือส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุให้รองรับกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป |
|
1.7 สิทธิในการทำงาน ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงสิทธิในการทำงานและมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม เพื่อจะได้ทำงานได้ต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังต้องการและสามารถสร้างผลิตผลในการทำงานได้ |
- ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 บัญญัติให้ผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุน และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำแล้ว - ควรมีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับการจ้างงานคนพิการ |
|
1.8 สิทธิในการศึกษาตลอดชีวิต ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิในการศึกษาตลอดชีวิตตามระดับความสามารถ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ |
- ควรกำหนดนโยบาย มาตรการ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้บูรณาการกับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งการฝึกฝนทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นให้กับผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี รวมทั้งจัดทำหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ผ่านกลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ - ศธ. มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ซึ่งครอบคลุมสิทธิในการศึกษาตลอดชีวิตของบุคคลทุกช่วงวัยแล้ว ตามมาตรา 6 ที่ยึดหลักความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง เป็นธรรม มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพชีวิต สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของทุกกลุ่มเป้าหมาย |
|
1.9 สิทธิในการได้รับความคุ้มครองจากการถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำรุนแรง และถูกแสวงประโยชน์ ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองจากการถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำรุนแรงและแสวงประโยชน์ |
- พม. ได้แก้ไขประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง การคุ้มครอง การส่งเสริมและสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบความเดือดร้อน โดยปรับวงเงินในการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกินสามครั้งต่อคนต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ประสบปัญหาด้านครอบครัว ถูกทารุณกรรม ถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถูกทอดทิ้ง - ควรมีผู้คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุเพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทอดทิ้งบุพการี รวมทั้งควรศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมเรื่องประเภทการลาของข้าราชการ เพื่อดูแลบุพการีผู้สูงอายุ |
|
1.10 สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในกรณีภัยพิบัติ ควรมอบหมายให้ มท. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดทำคู่มือการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์ภัยพิบัติให้ทั้งผู้สูงอายุและหน่วยงานภาครัฐตลอดจนภาคเอกชนที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดภัยพิบัติ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลประชากรผู้สูงอายุในเชิงพื้นที่ที่เป็นปัจจุบัน และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละพื้นที่ โดยอาจพิจารณาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานประสานหลักในเชิงพื้นที่ในการรับมือกับภัยพิบัติรวมถึงการให้ความช่วยเหลือ |
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น ซึ่งหากใช้แนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) จะมีส่วนช่วยให้ความเสี่ยงจากสาธารณภัยในกลุ่มผู้สูงอายุลดลง และมีแผนป้องกันภัยพิบัติสำหรับผู้สูงอายุ |
|
2. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง |
||
2.1 ควรพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ |
2.1 การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่เกิดความเสียหายต่อรัฐ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดผลเป็นรูปธรรม โดย - พม. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... - รง. อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมในประเด็นการขยายอายุการเป็นผู้ประกันตน โดยได้ยกร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง - กฎหมายของ ศธ. ครอบคลุมในการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ ศธ. แล้ว จึงไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย - กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. 2563 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 แล้ว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและการให้บริการของผู้ดำเนินการและผู้ให้บริการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป - การแก้ไข ปรับปรุง ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเบิกค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับการดำเนินโครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระยะยาว มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงต้องมีความชัดเจนว่า เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถดำเนินการได้หรือไม่ จึงจะสามารถปรับปรุงระเบียบดังกล่าวได้ - การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อขยายอายุของผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จากเดิมที่กำหนดอายุไว้ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และให้สมาชิกสิ้นสภาพเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กอช. |
|
2.2 ควรเร่งการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ รง. เสนอ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเพื่อขยายอายุของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากเดิมอายุไม่เกิน 60 ปี เป็นไม่เกิน 65 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งเสริมโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ |
พระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 แล้ว เพื่อขยายอายุของบุคคล ซึ่งอาจสมัครเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากเดิมอายุไม่เกิน 60 ปี เป็นไม่เกิน 65 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการส่งเสริมโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุแล้ว |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6534
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ