สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 June 2021 00:00
- Hits: 275
สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ได้ติดตามและรายงานความคืบหน้าการ เกิดสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์สาธารณภัยจนถึงปัจจุบัน จึงขอ สรุปสถานการณ์ดังกล่าว และผลการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังนี้
การคาดหมายลักษณะอากาศ การสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม และการช่วยเหลือ
1. สภาพอากาศ (ระหว่างวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2564)
ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2564 ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนเกิดขึ้น ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 1 - 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 18 - 20 มิถุนายน 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2564 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
2. การแจ้งเตือนและสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง แจ้งเตือนจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต เพื่อเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ส่งผลให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2564 ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลําพูน ลําปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลําภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อํานาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี จึงขอให้จังหวัดที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยวิชาการที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่
3. ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย / ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สั่งการให้กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียม ความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ดังนี้
1) การเตรียมความพร้อม
1.1 การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ให้จัดตั้งคณะทํางานติดตามสถานการณ์โดยมี หน่วยงานด้านการพยากรณ์หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคมหรือสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมทําหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำและเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อํานวยการแต่ละระดับ สำหรับใช้ในการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพพื้นที่
1.2 การจัดทําแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ให้ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
1.3 การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ ให้มอบหมายกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับดําเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบ ที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน
1.4 การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ / กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบจัดทีมวิศวกรเข้าสํารวจตรวจสอบ และปรับปรุงให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้า / ผ่านในปริมาณมาก รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
1.5 การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ให้ดําเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุ และเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า รวมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทางทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจําหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูล และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในกรณีจังหวัดที่มีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อกันให้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และแจ้งเตือนระหว่างจังหวัดต้นน้ำและจังหวัดปลายน้ำอย่างใกล้ชิด
2) การเผชิญเหตุ
เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยดําเนินการตามแนวทาง ดังนี้
2.1 จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อําเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ และอํานวยการหลักในการระดมสรรรพกําลัง ตลอดจนการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรสาธารณกุศล
2.2 ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นําชุมชน ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในชุมชน พื้นที่สําคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สําคัญต่างๆ และร่วมกันกําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทั้งนี้ หากมีกรณีน้ำท่วมขัง สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนให้เร่งกําหนดแนวทางการระบายน้ำ พร้อมทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่ของหน่วยงาน ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชน เพื่อเร่งระบายน้ำ และเปิดทางน้ำในพื้นที่
2.3 จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดํารงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล โดยอย่าให้เกิด ความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ และเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภัย
2.4 กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้บูรณาการหน่วยงานเป็นทีมช่างในพื้นที่ทั้งหน่วยทหาร ตํารวจ ฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เพื่อเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว
2.5 กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมจนประชาชนไม่สามารถใช้ยานพาหนะสัญจรได้ให้จัดทําป้ายแจ้งเตือนพร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่อํานวยความสะดวกการจราจร แนะนําเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสม อาทิ เรือ รถยกสูง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชํารุด / ถูกตัดขาด เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว
2.6 เน้นย้ำการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัย ผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนสื่อแขนงต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
2.7 ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มที่เกิดขึ้นต่อกองอํานวยการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์และเสนอ ความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจสั่งการในเชิงนโยบายต่อไป
สรุปสถานการณ์วาตภัย
ระหว่างวันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2564
1.1 จากสถานการณ์พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กําลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยมีแนวโน้มจะทวีกําลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่ง บริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ทําให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทําให้เกิดลมกระโชกแรง น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ ในห้วงวันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน พิษณุโลก และจังหวัดระนอง รวม 3 อำเภอ 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 5 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นฟู ดังนี้
จังหวัด |
วันเกิดเหตุ |
จำนวน |
รายชื่ออำเภอ | จำนวน | ||||
อำเภอ |
ตำบล |
หมู่บ้าน |
ครัวเรือน |
เสียชีวิต |
บาดเจ็บ |
|||
ภาคเหนือ รวม 2 จังหวัด 2 อำเภอ 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 4 หลัง |
||||||||
1. น่าน |
14 มิ.ย. 64 |
1 |
2 |
2 |
บ่อเกลือ |
4 |
- |
- |
2. พิษณุโลก |
14 มิ.ย. 64 |
1 |
1 |
1 |
นครไทย |
- |
- |
- |
ภาคใต้ รวม 1 จังหวัด 1 อำเภอ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1 หลัง |
||||||||
3. ระนอง |
12 มิ.ย. 64 |
1 |
1 |
1 |
เมือง ฯ |
1 |
- |
- |
1.2 จากสถานการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกําลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทําให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในห้วงวันที่ 4 - 12 มิถุนายน 2564 ทําให้เกิดลมกระโชกแรง น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ ในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลําปาง แพร่ พะเยา ตาก พิจิตร อุดรธานีหนองบัวลําภู กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา สระบุรี ตราด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และจังหวัดปัตตานี รวม 62 อำเภอ 95 ตำบล 225 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1,131 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัดอยู่ระหว่างการฟื้นฟู
สรุปสถานการณ์ตลิ่งทรุดตัว
ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564
จังหวัดระนอง วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30 น. เกิดเหตุตลิ่งทรุดตัวในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลบางนอน อำเภอเมืองระนอง ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
การให้ความช่วยเหลือ : สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ อปท. อปพร. อาสาสมัคร และมูลนิธิเข้าสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหว
ระหว่างวันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2564
กรมป้องกันและบรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว จากกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เกิดแผ่นดินไหว ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้
1. วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 13.17 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 3.0 ที่ความลึก 5 กม. บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 175 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
2. วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 04.38 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 3.9 ที่ความลึก 10 กม. บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 256 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
3. วันที่ 12 มิถุนายน 2564 เวลา 02.13 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.0 ที่ความลึก 60 กม. บริเวณ Off West Coast of Northern Sumatra ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 525 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
สรุปสถานการณ์อุบัติภัย และเหตุการณ์สำคัญ
ระหว่างวันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2564
1. จังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ 13 มิถุนายน 2564 เวลา 13.20 น. เกิดอุบัติเหตุทางถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) บริเวณหลัก กม. ที่ 180-181 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอหนองไผ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพ - กู้ภัย เข้าให้การช่วยเหลือนําผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหนองไผ่
2. กรุงเทพมหานคร วันที่ 12 มิถุนายน 2564 เวลา 09.20 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท พีเคแฟชั่น การ์เม้นท์ จํากัด ตั้งอยู่เลขที่ 75/31 ซอยเพชรเกษม 28 แยก 12 ถนนเพชรเกษม แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ ลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบกิจการผลิตและตัดเย็บเสื้อผ้าสําเร็จรูป เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 10.34 น. เพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหายทั้งชั้น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
3. กรุงเทพมหานคร วันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 22.17 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้หมู่บ้านปูนซีเมนต์ไทย ตั้งอยู่เลขที่ 82/183 ซอยซีเมนต์ไทย 12 ถนนประชาชื่น แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ประกอบกิจการพักอาศัย เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 22.37 น. เพลิงลุกไหม้เสียหายทั้งหลัง และลุกลามบ้านข้างเคียงเล็กน้อย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6530
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ