ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Structural Reform Ministerial Meeting) ครั้งที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 June 2021 23:27
- Hits: 1520
ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค (Structural Reform Ministerial Meeting) ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค ครั้งที่ 3 (Ministerial Statement of the Third Structural Reform Ministerial Meeting) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลังหากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ และเห็นชอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง ครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 โดยผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมทั้งร่วมกับรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปคให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ โดยไม่มีการลงนาม ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญ
1. การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง (SRMM) ครั้งที่ 3 มีวาระการหารือที่สำคัญดังนี้
1.1 แนวทางการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ผ่านการหลีกเลี่ยงนโยบายการปฏิรูปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่หากพิจารณาถึงผลกระทบในระยะยาวจากมุมมองแบบองค์รวมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การปฏิรูปกฎระเบียบสังคมและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรต่อนวัตกรรม และส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินสีเขียว
1.2 ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาคที่ส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทั้งนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจจุลภาคต่อการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
1.3 การเห็นชอบในหลักการต่อเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ การยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคปี 2564 – 2568 (Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: EAASR) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านปฏิรูปโครงสร้างเอเปคในช่วงระยะเวลาต่อไป และแผนปฏิบัติการเอเปคเรื่องความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจระยะที่ 3 (The Third Ease of Doing Business Action Plan)
1.3.1 EAASR ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ (1) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดตลาดที่เปิดกว้าง โปร่งใสและมีการแข่งขัน (2) การส่งเสริมการฟื้นตัวของธุรกิจและเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต (3) การสร้างหลักประกันให้ทุกกลุ่มในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ (4) การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ และการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มผลผลิตและการปรับเปลี่ยนดิจิทัล โดยในแผนปฏิบัติการ EAASR ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด และกรอบเวลาในการทบทวนการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและออกแบบโครงการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างในแต่ละเขตเศรษฐกิจ
1.3.2 แผนปฏิบัติการเอเปค เรื่องความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจระยะที่ 3 ให้ความสำคัญใน 5 ตัวชี้วัด (จาก 10 ตัวชี้วัดของ World Bank’s Doing Business Index) ได้แก่ การเข้าถึงเครดิต การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย การจดทะเบียนทรัพย์สิน และการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย โดยได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาตัวชี้วัดอยู่ที่ร้อยละ 12 ภายในปี 2568 ทั้งนี้ ในแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการผ่านการเสริมสร้างศักยภาพให้เขตเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในด้านการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดให้ปรับตัวดีขึ้น
1.4 การรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ในประเด็นมุมมองทางธุรกิจต่อการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
2. สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของ การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง (SRMM) ครั้งที่ 3 มีวาระการหารือที่สำคัญดังนี้
2.1 ตระหนักถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน โดย โรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทาน การบริโภคและตลาดแรงงานทั่วโลกหยุดชะงัก ตลาดการเงินที่ผันผวนรุนแรง ฐานะทางการคลังเสื่อมสภาพ และการจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้คน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะต่อกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นจึงเน้นย้ำการดำเนินการร่วมกันเอเปคในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวและเตรียมการเพื่อการฟื้นฟูผ่านการปฏิรูปโครงสร้างที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ยืดหยุ่น ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับนวัตกรรม
2.2 ทบทวนวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคและรับรองการยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคปี 2564 – 2568 (EAASR) ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการด้านการปฏิรูปโครงสร้างในอนาคตเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ยั่งยืนและครอบคลุม
2.3 เน้นย้ำถึงความสำคัญของเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมการปฏิรูปโครงสร้างและภารกิจอื่นๆ โดยรับทราบถึงข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) สนับสนุนให้มีการร่วมมือกับคณะกรรมการและกลุ่มอื่นๆ ในเอเปคในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปฏิรูปโครงสร้าง และให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการเอเปค เรื่องความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจระยะที่ 3 ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Policy Report: AEPR) ประจำปี 2564 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและงานในอนาคต และยินดีกับหัวข้อรายงาน ประจำปี 2565 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและงานในอนาคต และยินดีกับหัวข้อรายงาน ประจำปี 2565 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและการฟื้นฟูอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ในการเข้าร่วมการประชุมฯ มีดังนี้ 1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์และโอกาสจากกรอบความร่วมมือเอเปคในการสนับสนุนและผลักดันความร่วมมือที่มีศักยภาพให้ปรากฎผลเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป รวมทั้งสร้างความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 2. สร้างความเชื่อมั่นแก่นานาประเทศผ่านการเน้นย้ำในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้างถึงความสำคัญที่จะต้องปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนฐานของการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนากฎระเบียบที่มีความโปร่งใสและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6528
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ