ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 June 2021 18:24
- Hits: 3470
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ได้แก่ 1) ผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ประเด็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) 2) ผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ และปัญหาผลกระทบการค้าตรงและการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (e - Commerce) ต่อเศรษฐกิจชุมชน 3) ควรทบทวนและประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการของกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ 4) ควรสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเหตุผลในการจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 5) ควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ e - Payment ในภาพรวมที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศและบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 6) ควรสนับสนุนการดำเนินการของ Startup ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านกฎหมาย ภาษี รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจ และ 7) ควรเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด Digital infrastructure ควรหาแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ Startup โดยการออกมาตรการทางด้านภาษี
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่าได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ดศ. พณ. สธ. สกท. สคบ. สสว. และ ธปท. โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามข้อ 1 แล้ว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะและข้อสังเกต |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1. ผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ประเด็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) เช่น 1.1 หน่วยงานต่างๆ ควรบูรณาการเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกันในการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ 1.2 ควรพิจารณาอนุสัญญาภาษีซ้อนซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในต่างประเทศซึ่งมีรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย 1.3 ควรหาแนวทางการดำเนินการทางด้านภาษีเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม 1.4 ควรมีมาตรการทางด้านภาษีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการเสียภาษี และรายงานข้อมูลต่างๆ |
• หน่วยงานใน กค. ได้บูรณาการร่วมกันในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าสำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ประกอบการจดทะเบียนในต่างประเทศที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย • กค. ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรประกอบความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน • กค. มีมาตรการที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางภาษี เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e - Service) ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 • กค. มีมาตรการเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการเสียภาษี โดยได้พัฒนาการให้บริการในรูปแบบดิจิทัล เช่น Tax From Home ซึ่งให้บริการจดทะเบียน ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีและคืนภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ • กค. มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรและโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องแล้ว |
|
2. ผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ และปัญหาผลกระทบการค้าตรงและการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (e - Commerce) ต่อเศรษฐกิจชุมชน เช่น 2.1 ควรเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ในการจำหน่ายและจัดส่งสินค้าสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการรวมตัวกันเพื่อนำเสนอขายสินค้าและควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs และผู้ประกอบการชุมชนสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ด้วยการให้คำแนะนำเรื่องการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ควบคู่กันไป 2.2 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรพิจารณาทบทวนกฎหมายในแต่ละฉบับให้เหมาะสมกับปัจจุบัน 2.3 ควรกำหนดวิธีการยืนยันตัวตนของผู้ขายสินค้า โดยการตรวจสอบข้อมูลบัตรประชาชนไว้เป็นหลักฐาน และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการ และสร้างช่องทางตรวจสอบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ และหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลธุรกิจออนไลน์ควรสร้างแพลตฟอร์มเฉพาะของหน่วยงานตนเองขึ้น เพื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มมิจฉาชีพและจัดเก็บไว้เป็นศูนย์กลางสำหรับให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง 2.4 ควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ Startup ของประเทศไทยให้มีศักยภาพ และมีมาตรการภาษีที่เหมาะสม |
• พณ. ได้สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการเข้าไปแนะนำการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น โครงการและกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการให้ใช้ e - Commerce เป็นช่องทางในการขยายตลาดโครงการพัฒนาชุมชนอิจฉริยะออนไลน์ และโครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ อย่างไรก็ตาม สสว. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในปีงบประมาณ 2563 พบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ • สธ. โดย อย. ได้มีแผนปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ • สคบ. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้บริโภคโดยใช้กลไกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และในด้านการติดตามข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ • กค. ได้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของผู้ประกอบการรายใหม่ที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี |
|
3. ควรทบทวนและประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการของกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ |
• กค. จะพิจารณาทบทวนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายโดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป |
|
4. ควรสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเหตุผลในการจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับแนวทางและเหตุผลในการจัดเก็บข้อมูลทางด้านการเงิน |
• ธปท. ได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนชี้แจงรายละเอียดและขั้นตอนในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ รวมถึงกรอบเวลาในการพิจารณา และได้พัฒนาระบบ e - Application เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบธุรกิจในการติดต่อสื่อสารและการนำส่งเอกสารคำขอ |
|
5. ควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ e - Payment ในภาพรวมที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศและบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 |
• ข้อมูลของ ธปท. พบว่าปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) ในปี 2563 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันสะดวกและช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้บริโภค อีกทั้งสร้างประวัติทางการเงินที่ดีของผู้รับเงินและผู้จ่ายเงินซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ ในปี 2564 หน่วยงานที่มีหน้าที่รายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 จะต้องจัดทำรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะของปี 2563 ตามข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และรายงานต่อกรมสรรพากรอันจะทำให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย |
|
6. รัฐบาลควรสนับสนุนการดำเนินการของ Startup ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านกฎหมาย ภาษี รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจ |
• สกท. ได้ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น กิจการพัฒนา Embedded Software กิจการพัฒนา Enterprise Software และ/หรือ Digital Content กิจการพัฒนาซอฟแวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added Software) กิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) กิจการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม (Innovation Incubation Center) และกิจการ Maker Space หรือ Fabrication Laboratory เป็นต้น โดยให้สิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ถึง 8 ปี ทั้งยังได้กำหนดวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการ Startup ต่างชาติให้มาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และให้สิทธิและประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย |
|
7. รัฐบาลควรเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด Digital infrastructure ควรหาแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ Startup โดยการออกมาตรการทางด้านภาษี |
• ดศ. ได้ดำเนินมาตรการที่เน้นการสร้าง Digital Infrastructure รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ปี 2562 ด้วยหลักสูตรความรู้ ซึ่งปัจจุบันได้นำไปขยายผลกับสถาบันการศึกษา |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6276
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ