ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 June 2021 17:21
- Hits: 2879
ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563) ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในกรอบวงเงิน 37.967 ล้านบาท โดยผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
งบประมาณ (ล้านบาท) |
2564 |
7.593 |
2565 |
30.374 |
รวมทั้งสิ้น |
37.967 |
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 4 และข้อ 5 (3) กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คณะกรรมการประเมินผล) โดยมี สบน. รับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการประเมินผล และให้คณะกรรมการประเมินผลมีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีการประเมินผลโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 และจัดทำรายงานการประเมินผลโครงการดังกล่าวเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 6 เดือน รวมถึงรายงานการกู้เงินตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้เมื่อใดมีการใช้จ่ายเงินกู้ของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ หรือการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ให้มีการติดตามประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้
2. กค. (สบน.) จึงได้จัดทำโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการประเมินผลตามระเบียบกระทรวงการคลังข้างต้น และเพื่อให้ กค. สามารถดำเนินการติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรายงานผลการประเมินโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 แล้ว จำนวน 287 โครงการ วงเงินรวม 833,475.355 ล้านบาท และโครงการทั้งหมดมีการกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยโครงการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียดโดยสรุป |
||||||||
1. วัตถุประสงค์ |
1) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ รวมทั้งรายงานปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ 2) เพื่อประเมินผลโครงการ แผนงานหรือโครงการ รวมทั้งประเมินผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม 3) จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในภาพรวม แผนงานหรือโครงการ รวมทั้งถอดบทเรียนจากผลลัพธ์ของการดำเนินการเพื่อเป็นกรอบนโยบายและการกำหนดมาตรการของรัฐบาลในอนาคต |
||||||||
2. ขอบเขตการดำเนินงาน |
1) จัดทำกรอบแนวคิดในการประเมินผล โดยครอบคลุมประเด็นที่จะประเมินหลักเกณฑ์ แนวทาง รูปแบบ วิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสม รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินผลเป็นไปตามมาตรฐานสากล 5 ด้าน ได้แก่ ความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืนตามความเหมาะสมของการประเมินในระดับต่างๆ ได้แก่ (1.1) ระดับผลกระทบ (Impact) ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (1.2) ระดับผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ของการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 (1.3) ระดับโครงการ โดยประเมินความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยนำเข้า (Input) กิจกรรมหรือกระบวนการ (Process) ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ของโครงการ ทั้งนี้ ผลการประเมินจะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินกู้ด้วย 2) จัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งการติดตามและประเมินผลการดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 โดยจัดเก็บข้อมูล 2 ประเภท ดังนี้ (2.1) จัดเก็บ/รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิของโครงการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูลในระบบ eMENSCR ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (2.2) จัดเก็บ/รวบรวมข้อมูลปฐมภูมิของโครงการด้วยการสำรวจโครงการต่างๆ จากการลงพื้นที่ศึกษาหรือจากกลุ่มเป้าหมายจริง 3) ประเมินผลโครงการ โดยยึดหลักการและกรอบแนวทางตามข้อ 1) และเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด 4) จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 รวมถึงปัญหาอุปสรรคและเสนอแนวทางแก้ไข เป็นราย 3 เดือน 5) จัดทำรายงานประเมินผลโครงการและผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วย รายงานประเมินผลโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ราย 6 เดือน และรายงานการประเมินผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม 6) จัดทำแบบจำลองที่ใช้ประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 7) นำเสนอข้อมูลการติดตามและประเมินผลภาพรวมในรูปแบบการสรุปข้อมูลในหน้าเดียวและเป็นข้อมูลที่ทันสมัย (Dashboard) ภาพเคลื่อนไหว (VDO Animation) และการเล่าเรื่องหรืออธิบายข้อมูลโดยใช้ภาพในการสื่อสาร (Infographics) 8) จัดประชุมและลงพื้นที่ดำเนินโครงการ 9) จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานเพื่อให้สามารถส่งมอบงานได้ตามขอบเขตการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาที่กำหนด |
||||||||
3. งบประมาณรายจ่าย ระยะเวลาและกิจกรรม |
งบประมาณรวม 37.967 ล้านบาท ระยะเวลา 14 เดือน (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 - กันยายน 2565) แบ่งเป็น
|
||||||||
หมายเหตุ * ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ** ผูกพันงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 |
กค. แจ้งว่า สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้ กค. (สบน.) ดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามและประเมินผล แผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ในกรอบวงเงิน 37.967 ล้านบาท และ สงป. ได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีทราบด้วยแล้ว โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7.593 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อไป จำนวน 30.374 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่ง สงป. ได้เสนอตั้งงบประมาณในขั้นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รองรับไว้แล้ว แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินงานเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณจึงเป็นกรณีที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จึงขอให้ สบน. นำเสนอเรื่องดังกล่าว พร้อมจัดทำรายละเอียดตามนัยมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6272
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ