ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วัคซีน)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 June 2021 12:20
- Hits: 376
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วัคซีน)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วัคซีน) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วัคซีน) เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ) นำไปใช้ในการติดตามประเมินผล และวางแผนบริหารจัดการวัคซีนให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และลดความสับสนของข้อมูลข่าวสารการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 รวมทั้งการกำหนดนโยบาย/มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ครัวเรือนละ 1 คน ได้จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 46,000 คน ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม 2564 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ประชาชนร้อยละ 75.2 ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ต้องการฉีดและพร้อมที่จะฉีดวัคซีนร้อยละ 47.7 และผู้ต้องการฉีดแต่ขณะนี้ยังไม่พร้อมฉีดวัคซีนร้อยละ 27.5) ส่วนร้อยละ 5.5 ฉีดวัคซีนแล้ว
ขณะที่ร้อยละ 19.3 ไม่ต้องการฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผล 5 อันดับแรก คือ กลัวผลข้างเคียง (ร้อยละ 16.4) ไม่เชื่อมั่นว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันได้ (ร้อยละ 4.9) มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น พิการ มีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ เป็นต้น (ร้อยละ 4.6) สามารถป้องกันตัวเองได้ (ร้อยละ 3.6) และไม่มีข้อมูลหรือข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ (ร้อยละ 3.2)
สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ระบุว่าวัคซีนที่ต้องการฉีดมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ วัคซีนตามที่รัฐบาลจัดหาให้ (ร้อยละ 54.6) วัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) (ร้อยละ 12.5) วัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา (Moderna) (ร้อยละ 3.0) วัคซีนยี่ห้อจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) (ร้อยละ 2.5) และวัคซีนยี่ห้อโนวาแวกซ์ (Novavax) (ร้อยละ 0.9)
เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า มี 6 จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้วและผู้ที่พร้อมจะฉีดวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ ภูเก็ต (ร้อยละ 80.2) ตรัง (ร้อยละ 80.0) ระนอง (ร้อยละ 78.8) บุรีรัมย์ (ร้อยละ 73.3) ชลบุรี (ร้อยละ 71.8) และนนทบุรี (ร้อยละ 71.2) ขณะที่กรุงเทพมหานคร และอีก 70 จังหวัด ที่รัฐควรกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
เมื่อพิจารณากลุ่มอายุพบว่า ผู้ที่มีอายุ 18-29 ปี ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ขณะที่นักเรียน/นักศึกษาและผู้ว่างงาน/ไม่มีงานทำระบุว่าไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีนมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ทั้งนี้ทุกกลุ่มอายุ และกลุ่มอาชีพ ให้เหตุผลที่ไม่ต้องการ ฉีดวัดซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน เนื่องจากกลัวผลข้างเคียงเป็นสำคัญ
2. ประชาชนร้อยละ 45.3 มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่รัฐบาลให้บริการกับประชาชน ขณะที่ร้อยละ 54.7 ไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า กลัวผลข้างเคียง (ร้อยละ 41.3) วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดหาให้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนที่จะเลือกใช้เอง (ร้อยละ 7.0) ได้รับข้อมูลข่าวสารของวัคซีนที่มีความขัดแย้งกัน (ร้อยละ 5.7) และอื่นๆ เช่น การผลิตใช้เวลาสั้น เป็นต้น (ร้อยละ 0.7)
สำหรับกลุ่มอายุที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน พบว่า อายุ 18-29 ปี ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับนักเรียน/นักศึกษา และผู้ว่างงาน/ไม่มีงานทำไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ทั้งนี้ ทุกกลุ่มอายุ และทุกกลุ่มอาชีพ ให้เหตุผลที่ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนฯ 3 เรื่องแรกไม่แตกต่างกัน คือ กลัวผลข้างเคียง วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดหาให้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนที่จะเลือกใช้เองและได้รับข้อมูลข่าวสารของวัคซีนที่มีความขัดแย้งกัน
เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า มี 6 จังหวัดที่ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 70ได้แก่ กาฬสินธุ์ (ร้อยละ 80.5) ปัตตานี (ร้อยละ 78.5) นราธิวาส (ร้อยละ 74.0) เชียงใหม่ (ร้อยละ 72.2) ขอนแก่น (ร้อยละ 71.3) และสตูล (ร้อยละ 70.4)
3. ประชาชนร้อยละ 56.6 ระบุว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ซึ่งในจำนวนนี้ให้เหตุผลที่สำคัญว่า ไม่คุ้มกับการสูญเสีย ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยดังกล่าว และค่าชดเชยยังไม่เพียงพอ เป็นต้น) และ ร้อยละ 43.4 ระบุว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจ
เมื่อพิจารณากลุ่มอายุ พบว่า ผู้ที่มีอายุ 18 - 29 ปีที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน เห็นว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับ นักเรียน/นักศึกษาและผู้ว่างงาน/ไม่มีงานทำที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีน เห็นว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันดังกล่าว มีผลต่อการตัดสินใจสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น โดยทุกกลุ่มอายุและทุกกลุ่มอาชีพให้เหตุผลที่สำคัญ 3 เรื่องแรกไม่แตกต่างกัน คือ ไม่คุ้มกับการสูญเสีย ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยดังกล่าว และค่าชดเชยยังไม่เพียงพอ
เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า มี 9 จังหวัด ที่ประชาชนเห็นว่าการที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันฯ มีผลต่อการตัดสินใจมากกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ นครพนม (ร้อยละ 78.9) มุกดาหาร (ร้อยละ 77.8) มหาสารคาม (ร้อยละ 76.6) ร้อยเอ็ด (ร้อยละ 74.2) น่าน (ร้อยละ 73.9) อุบลราชธานี (ร้อยละ 73.8) ขอนแก่น (ร้อยละ 71.7) ยะลา (ร้อยละ 70.9) และชัยภูมิ (ร้อยละ 70.7)
4. ประชาชนร้อยละ 80.9 เห็นว่าควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยให้เหตุผลว่า มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวนมาก เสี่ยงการติดเชื้อจากโรคโควิด 19 (ร้อยละ 37.6) มีผู้สูงอายุ/ผู้พิการ/เด็กเล็กในบ้าน เดินทางไปรับบริการไม่สะดวก (ร้อยละ 27.7) และที่พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล/สถานพยาบาล (ร้อยละ 12.2) เป็นต้น
ขณะที่ร้อยละ 19.1 ระบุว่าไม่ควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยให้เหตุผลว่า กังวลความปลอดภัยของคนไข้กรณีเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังฉีดวัคซีน (ร้อยละ 9.4) บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการพร้อมๆ กันในหลายแห่ง (ร้อยละ 7.4) และความสะอาดของเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (ร้อยละ 1.5) เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ประชาชนเห็นว่าสถานที่เหมาะสมในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล (ร้อยละ 52.4) จัดรถ mobile พร้อมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ชุมชนตามวันเวลาที่กำหนด (ร้อยละ 18.2) โรงเรียน อาคารอเนกประสงค์ สนามกีฬา วัด (ร้อยละ 9.8) ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน (ร้อยละ 9.6) และสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (ร้อยละ 6.9)
5. ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และลดความสับสนของข่าวสารการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้แก่ประชาชน ดังนี้ ให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้นำเสนอประโยซน์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 48.3) ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลและสกัดกั้นข่าวเท็จที่เผยแพร่จากสื่อสาธารณะ หรือโซเชียลมีเดีย อย่างรวดเร็ว (ร้อยละ 20.4) ให้หน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวเป็นผู้รับผิดชอบเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร (ร้อยละ 18.8) และจัดให้มีขั้นตอนการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่ชัดเจนโดยอยู่ในความรับผิดชอบและสื่อสารของหน่วยงานเดียว (ร้อยละ 12.5)
6. หากรัฐจะจัดเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครเพื่ออำนวยความสะดวกในการรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 พบว่า ประชาชนร้อยละ 45.3 ระบุว่าต้องการ และร้อยละ 54.7 ระบุว่าไม่ต้องการ
สำหรับผู้ที่ต้องการให้รัฐอำนวยความสะดวกฯ 3 อันดับแรก คือ ลงทะเบียนที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล (ร้อยละ 17.3) จัดรถ mobile พร้อมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ชุมชนตามวันเวลาที่กำหนด (ร้อยละ 9.6) และลงทะเบียนที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน (ร้อยละ 9.4)
7. ประชาชนร้อยละ 90.5 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รายได้ที่มีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 49.3) ค่าใช้จ่าย/ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 44.2) รายได้ลดลง (ร้อยละ 40.1) ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย การนั่งรถสาธารณะ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เป็นต้น (ร้อยละ 37.6) และปัญหาการเดินทางไม่สะดวก หรือไม่สามารถเดินทางได้ (ร้อยละ 36.3)
8. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ใน 5 อันดับแรก คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง/ไทยชนะ/ม.33 เรารักกัน (ร้อยละ 67.8) ลดภาระค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า/ประปา/ค่าเดินทาง (ร้อยละ 63.1) จ่ายเงินชดเชย/เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ (ร้อยละ 57.7) พักชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละ 34.8) และจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ร้อยละ 33.2) เป็นต้น
ประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ (ยกเว้น ข้าราชการ/พนักงานลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ) ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุดในเรื่องปัญหาปากท้อง คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง/ไทยชนะ/ม.33 เรารักกัน
ขณะที่ข้าราชการ/พนักงานลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุดในเรื่อง ลดภาระค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า/ประปา/ค่าเดินทาง ทั้งนี้ อาจเนื่องจากนโยบายที่ให้บุคลากรปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work from home) และการป้องกันตนเองจากการเดินทางโดยการหันมาใช้บริการรถสาธารณะรับจ้าง เช่น แท็กซี่ แกร็บคาร์ เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการให้บริการที่แออัด
ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอข้อมูลในระดับจังหวัด สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไชต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานสถิติจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อนำข้อมูลไปกำหนดมาตรการหรือนโยบายเชิงพื้นที่ได้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
จากการสำรวจดังกล่าว สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ควรประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพของวัคซีนและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ด้วยพรีเซนเตอร์ที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม/ประชาชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชนทั้ง 2 กลุ่ม (ร้อยละ 46.8) คือ ผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน (ร้อยละ 19.3) และผู้ที่ยังไม่พร้อมฉีด (ร้อยละ 27.5) เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่จึงทำให้ประชาชนเกิดความกังวลในด้านความปลอดภัยของวัคซีนเป็นพิเศษ ดังนั้นรัฐควรจะมีการกระตุ้นให้ฉีดวัคซีนโดยด่วน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ ร้อยละ 70 ของประชาชนทั้งหมด
2. ควรตรวจสอบและสกัดกั้นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนจากความเป็นจริงอย่างรวดเร็ว
3. ควรมีหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร และชี้แจงขั้นตอนการเข้าถึงวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความสับสนให้กับประชาชน
4. ควรเพิ่มเงินชดเชยและเร่งให้มีการประชาสัมพันธ์หลักประกันความมั่นใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐได้มีการจัดทำไว้แล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการจะได้รับเงินชดเชยอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนี้มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนของประชาชนมากถึงร้อยละ 56.6
5. ควรเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้หลากหลายยี่ห้อ นอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ยังไม่พร้อมฉีดวัคนหรือไม่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 หันมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
6. ควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กระจายในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เช่น สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล จัดรถ mobile พร้อมเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่ชุมชนตามวันเวลาที่กำหนด เป็นต้น
7. ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครหรือขอความร่วมมือภาคเอกชน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการลงทะเบียนเพื่อให้สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ เช่น การลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต 19 ที่ห้างสรรพสินค้า Operator เป็นต้น
8. ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ลงทะเบียนและจองนัดวัน เวลา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อที่จะเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รุนแรงเป็นหลัก ซึ่งจากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมีความต้องการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุ 18-29 ปี ดังนั้น การให้ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วจะเป็นแรงจูงใจ และสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดรับลงทะเบียนผ่าน Application ของจังหวัด/หน่วยงาน การเปิดจุดรับลงทะเบียนที่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือจัดรถ mobile เข้าไปรับลงทะเบียนในชุมชน/หมู่บ้าน เป็นต้น
9. ควรให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในแต่ละพื้นที่และกลุ่มอาชีพ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ง่ายเงินชดเชย/เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือค่าครองชีพ (ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง/ไทยชนะ/ม.33 เรารักกัน) ลดภาระค่าสาธารณูปโภค (ได้แก่ ไฟฟ้า/ประปา/ค่าเดินทาง) พักชำระหนี้/ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6267
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ