WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564

GOV 1

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2564 ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ ดังนี้

          1. เรื่องเพื่อทราบ 

                 1.1 ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

                          1.1.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจเสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุด วันที่ 3 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 172,424,472 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 489,890 คน และผู้เสียชีวิตสะสม 3,706,561 คน ขณะที่ สัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากร 100 คนในประเทศสำคัญๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิสราเอล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศข้อมูลล่าสุด วันที่ 3 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,886 คน ผู้หายป่วย 3,626คน และผู้เสียชีวิต 39คน ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสะสมรวม 168,118 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อสะสมจากการระบาดระรอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 140,485 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 1,052 คน ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นล่าสุดส่วนใหญ่มาจากการตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเรือนจำและทัณฑสถาน โดย 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในระลอกนี้ (ไม่รวมจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำและทัณฑสถาน) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี เพชรบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์

                          สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2564 เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ด้านการใช้จ่าย ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากฐานของการขยายตัวที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ส่วนมูลค่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 37.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 22.1 ในเดือนมีนาคม 2564 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้า และเป็นอัตราขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 130 เดือน ด้านการผลิต ดัชนีผลผลิตการเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 18.5 เป็นอัตราขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 99 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของการขยายตัวที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.6 ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เมื่อพิจารณาเครื่องชี้เทียบกับเดือนก่อนหน้าภายหลังจากปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว พบว่าเครื่องชี้ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ในเดือนเมษายน สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่เริ่มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สำหรับภาวะตลาดแรงงานและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบว่า เครื่องชี้ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 และร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนและในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เช่นเดียวกับจำนวนผู้มีงานทำและจำนวนชั่วโมงทำงานที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้สิทธิได้รับเงินชดเชยจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 173,260 คน สูงกว่า 23,495 ในเดือนมีนาคม ขณะที่ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อทั้งหมดในไตรมาสแรกลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.09 เทียบกับร้อยละ 3.11 ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสัดส่วนสินเชื่อชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ต่อสินเชื่อรวมทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 6.44 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.65 ในไตรมาสก่อน เมื่อพิจารณาเครื่องชี้ข้อมูลความถี่สูง (High-frequency data) ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่าการเดินทางภายในประเทศเพื่อออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับการระบาดระลอกแรกในเดือนมีนาคม 2563
                          
อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของการเดินทางภายในประเทศนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากในพื้นที่หลายจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายจังหวัดมากขึ้น (ข้อมูล วันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน 2564 พบว่าจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีจำนวน 8 จังหวัด และจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 1 รายถึง 10 ราย มีจำนวน 23 จังหวัด)

                          1.1.2 ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจ เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีรายละเอียด ดังนี้

                                   1.1.2.1 โครงการเราชนะ ความคืบหน้าล่าสุด จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง วันที่ 1 มิถุนายน 2564 มีรายละเอียด ดังนี้ กลุ่มประชาชน มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 33.1 ล้านคน ใช้จ่ายครบวงเงิน 17.6 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วรวมทั้งสิ้น 257,997 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน ซึ่งได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 97,367 ล้านบาท (2) กลุ่มผู้ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จำนวน 17.0 ล้านคน แบ่งเป็น กลุ่มผู้มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง 8.4 ล้านคน และกลุ่มผู้ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันเป๋าตัง 8.6 ล้านคน ซึ่งได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 141,254 ล้านบาท และ (3) กลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาทิ ผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ จำนวน 2.4 ล้านคน ซึ่งได้มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 19,376 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนรวม 1.3 ล้านกิจการ โดยมีมูลค่าใช้จ่ายแยกตามประเภทร้านค้า ดังนี้ (1) ร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ 104,156 ล้านบาท (2) ร้านธงฟ้า 88,850 ล้านบาท (3) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 49,194 ล้านบาท (4) ร้าน OTOP 10,685 ล้านบาท (5) ร้านค้าบริการ 4,944 ล้านบาท และ (6) ขนส่งสาธารณะ 168 ล้านบาท

                                   1.1.2.2 มาตรการด้านแรงงาน ความคืบหน้าล่าสุด จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ประกอบด้วย

                                            1.1.2.2.1 มาตรการ 33 เรารักกัน มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 8,208,286 คน (ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564) เป็นผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง 622,172 คน ผู้ไม่ผ่านเงื่อนไขเงินฝากเกิน 500,000 บาท 168,679 คน ส่งผลให้มีผู้ได้รับสิทธิ์โครงการรวมทั้งสิ้น 8,138,627 คน คิดเป็นมูลค่าวงเงินสิทธิ์ 48,831.8 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) ผู้ได้รับสิทธิ (ผ่านเกณฑ์) รอบแรกและผ่านการทบทวนสิทธิรวม 8,079,742 คน และมีผู้ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์แล้ว 8,032,420 คน (2) ผู้ผ่านการลงทะเบียนกรณีไม่มีสมาร์ทโฟน 30,503 คน และ (3) ผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ ระยะที่ 2 จำนวน 28,382 คน สำหรับข้อมูลการใช้จ่ายสะสมของโครงการ 33 เรารักกัน วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีผู้ประกันตนใช้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 8,040,416 ราย มีร้านค้าที่ให้บริการ 1,069,838 ราย และมีมูลค่ารวมยอดการใช้จ่ายทั้งหมด 39,317.2 ล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานรายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการ 33 เรารักกัน ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 96,830 ราย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรขั้นสูงจำนวน 33,390 ราย

                                            1.1.2.2.2 โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment) มีรายละเอียด ดังนี้ ผลการอนุมัติจ้างงาน แบ่งเป็น การอนุมัติจ้างงานก่อนปรับปรุง จำนวน 6,240 คน ( 1 ตุลาคม 2563 – 29 ธันวาคม 2563) และเป็นการอนุมัติจ้างงานหลังจากการปรับปรุงเงื่อนไข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 จำนวน 20,348 คน (ข้อมูล วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2564) เมื่อจำแนกตามวุฒิการศึกษา พบว่า เป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 15,748 คน ระดับ ปวส. จำนวน 4,335 คน ระดับ ปวช. จำนวน 2,491 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 4,014 คน ทั้งนี้ ในส่วนปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการดำเนินโครงการฯ ได้แก่ (1) การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 3 (2) การชะลอการจ้างงานใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (3) ความต้องการจ้างงาน อุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) ไม่สอดคล้องกัน โดยส่วนใหญ่สถานประกอบการมีความต้องการจ้างงานด้านการผลิตและบริการ แต่ผู้จบการศึกษาใหม่ต้องการทำงานในสำนักงาน สำหรับวงเงินและแผนดำเนินโครงการในปัจจุบัน มีการปรับลดเป้าหมายและวงเงินดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จากเดิมกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 260,000 คน ปรับลดลงเป็นจำนวน 50,000 คน ทั้งนี้ คาดว่าจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 1,9462.0017 ล้านบาท จะมีการใช้จ่ายตามเป้าหมายที่ปรับลดจนสิ้นสุดโครงการฯ จำนวน 3,209.7989 ล้านบาท ส่งผลให้คาดว่าจะมีงบประมาณคงเหลือจำนวน 16,252.2028 ล้านบาท สำหรับแผนการดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุตามเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) การลงพื้นที่ในสถานศึกษาเชิญชวนผู้จบการศึกษาใหม่และสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ (2) เพิ่มตำแหน่งงานที่หลากหลาย โดยการลงพื้นที่เข้าพบนายจ้างและสถานประกอบการ สำรวจความต้องการจ้างงานที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการฯ และ (3) ประสานสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตนรายใหม่ตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติและเงื่อนไขตรงตามที่กำหนดไว้ใน โครงการฯ โดยเชิญชวนนายจ้างและสถานประกอบการที่แจ้งการส่งเงินสมทบประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตนรายใหม่ เข้าร่วมโครงการฯ

                                            1.1.2.2.3 ความคืบหน้าการบรรจุงานจากโครงการ Job Expo Thailand 2020 และโครงการอื่นๆ ของภาครัฐ พบว่า มีการบรรจุงานทั้งหมด 1,291,479 ราย ประกอบด้วย (1) การบรรจุงานของภาครัฐ 645,183 ราย แบ่งเป็น ตำแหน่งงานที่ใช้งบประมาณภายใต้ ... เงินกู้จำนวน 169,798 ราย และตำแหน่งงานที่ใช้งบประมาณประจำปี .. 2564 จำนวน 475,385 ราย (2) การบรรจุงานภาคเอกชนจำนวน 621,864 ราย โดยเป็นการบรรจุงานผ่านจากแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ 193,126 ราย และการบรรจุงานภาคต่างประเทศจำนวน 24,432 ราย

                                            1.1.2.3 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจและมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ความคืบหน้าล่าสุด จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ประกอบด้วย (1) โครงการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 20,839.3 ล้านบาท มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 8,218 ราย คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ยจำนวน 2.54 ล้านบาทต่อราย สำหรับประเภทของลูกหนี้ แบ่งตามวงเงินสินเชื่อเดิม ประกอบด้วย (1.1) วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก (SMEs) วงเงินสินเชื่อเดิม 5 – 50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.1 ของยอดรวมสินเชื่อทั้งหมด (1.2) บริษัทวงเงินสินเชื่อเดิม 50 – 500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 (1.3) วิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) วงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.1 และ (1.4) ลูกหนี้ใหม่ คิดเป็นร้อยละ 1.2 และหากแบ่งตามประเภทธุรกิจพบว่า สินเชื่อสำหรับกลุ่มธุรกิจการพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.7 ของยอดรวมสินเชื่อทั้งหมด อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.4 การก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.7 และภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6 และ (2) โครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้วทั้งสิ้น 4 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 909.68 ล้านบาท

                 1.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ

                 ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด และความคืบหน้ามาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) โครงการเราชนะ (2) มาตรการด้านแรงงาน และ (3) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจและมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้

                 1.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

                          1.3.1 มอบหมายให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานบริหารงบประมาณอย่างเหมาะสม และนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และติดตามการดำเนินการของหน่วยงาน และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างใกล้ชิด อาทิ หนี้ครัวเรือน การจ้างงาน และรายได้ของประชาชน รวมทั้งต้องเน้นการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง

                          1.3.2 มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เร่งรัดรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานต่างด้าวของภาคธุรกิจเอกชน เพื่อประสานกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานกรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

                          1.3.3 มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ ประสานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลด้านแรงงานและสถานประกอบการ อาทิ ความต้องการแรงงาน รวมทั้งข้อมูลการจัดตั้งบริษัทใหม่ และบริษัทที่เลิกกิจการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแนวทางบริหารเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนต่อไป

                          1.3.4 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาผ่อนปรนการเดินทางระหว่างจังหวัดของแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น อาทิ ความต้องการใช้แรงงานข้ามจังหวัดเพื่อการเก็บผลผลิตทางการเกษตร โดยให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 

                          1.3.5 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร รวมทั้งแนวทางการยกระดับขีดความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตรกรรม

          2. เรื่องเพื่อพิจารณา

                 2.1 แผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดนำร่องในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 

                          2.1.1 แผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ต (Phuket sandbox) มีรายละเอียด ดังนี้

                                   2.1.1.1 แผนเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย

                                            2.1.1.1.1 แผนการกระจายวัคซีน ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน 279,943 คน ครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด และมีผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว จำนวน 98,795 คน ครอบคลุมประชากรร้อยละ 21.2 ของประชากรทั้งหมด โดยมีจำนวนประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีก 186,644 คน สำหรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบันไม่มีความรุนแรง โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยประมาณ 3.9 คนต่อวัน (ค่าเฉลี่ย 7 วัน ข้อมูล วันที่ 3 มิถุนายน 2564)

                                            2.1.1.1.2 แผนเดินทางของนักท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 Pre-arrival (1) ผู้ที่เดินทางซึ่งได้รับวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทางแต่ไม่เกิน 1 ปี โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง (ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข) (2) เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่มาพร้อมกับผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนแล้วให้เดินทางเข้ามาได้พร้อมผู้ปกครอง (3) เด็กที่อายุระหว่าง 6 – 18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย (4) มีผลตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง และประกันสุขภาพครอบครองเชื้อโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญดอลลาร์ สรอ. รวมถึงหลักฐานจองที่พักซึ่งผ่านมาตรฐาน SHA+ และ (5) อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสงค์พักอาศัยต่ำกว่า 14 วันได้ แต่จะต้องเดินทางออกไปต่างประเทศเมื่อครบกำหนดนั้น ระยะที่ 2 Arrival (1) ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร และผ่านการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ และวัดไข้ผู้เดินทาง จุดตรวจ (2) ติดตั้งแอบพลิเคชันแจ้งเตือน และ (3) พำนักในโรงแรมที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ ที่จองไว้ล่วงหน้าเท่านั้น อย่างน้อย 14 คืนก่อนออกเดินทางไปยังจังหวัดอื่นในประเทศไทย ระยะที่ 3 Stay (1) ให้มีการตรวจ RT-PCR ตามมาตรฐานป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (2) นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ และดำเนินกิจกรรม หรือใช้บริการสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T-A (3) กรณีเจ็บป่วยให้ประสานงานโรงแรมที่พักหรือโรงพยาบาลใกล้ที่พำนัก และ (4) เจ้าของสถานที่พัก มีหน้าที่รายงานชื่อ และสถานภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้จังหวัดทราบทุกวัน และ ระยะที่ 4 Departure (1) จากจังหวัดภูเก็ตเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ ให้แสดงผลการตรวจเชื้อโควิด-19 และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และ (2) กรณีเดินทางไปต่างประเทศอื่นให้ถือปฏิบัติตามเกณฑ์ของประเทศปลายทางนั้นๆ

                                            2.1.1.1.3 แผนการรองรับด้านสาธารณสุข จังหวัดภูเก็ตมีโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 5 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 4 แห่ง สำหรับการควบคุมและคัดกรองนักท่องเที่ยวประกอบด้วย 3 จุดหลัก ได้แก่ ทางอากาศ ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ทางบก ผ่านด่านตรวจท่าฉัตรไชย และทางน้ำ ผ่านท่าเทียบเรือรวม 38 แห่ง โดยผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมีแอปพลิเคชัน ThailandPlus ในการติดตามตำแหน่ง ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ eHealth Certificate เพื่อรองรับการตรวจสอบ Vaccine Certificate จากประเทศต่างๆ โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ควบคุมข้อมูล

                                   2.1.1.2 แผนพัฒนาเมือง (Better Phuket Initiatives) ประกอบด้วย (1) การปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ การนำสายไฟฟ้าลงดินในย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมทั้งการเร่งรัดโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ แผนการปรับปรุงเส้นทาง มาตรฐานราคาและการให้บริการ การเร่งรัดโครงสร้างด้านขนส่งมวลชน การเร่งรัดโครงการด้านการขยายถนนและพื้นผิวจราจร การปรับปรุงการให้บริการ การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยการเดินทางและการท่องเที่ยวทางทะเล การประเมินประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียทั้งจังหวัด การดำเนินงานด้านการจัดการแหล่งน้ำและการประปาให้เพียงพอ (2) โครงการสร้างคุณค่าและประสบการณ์โดยการท่องเที่ยววิธีชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ และการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและกระจายรายได้สู่ชุมชน (3) การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการท่องเที่ยว และ (4) การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว

                                   2.1.1.3 แผนการตลาด ททท.ตั้งเป้าหมายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว ในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคมกันยายน 2564) จำนวน 129,000 คน และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ 11,492 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายตลาดระยะใกล้ ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น (ยกเว้น จีน) และกลุ่มเป้าหมายระยะไกล ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย อิสราเอล กลุ่มประเทศ GCC ฝรั่งเศส นอร์ดิก และสหรัฐอเมริกา ในส่วนของแผนการบินในปัจจุบันพบว่าสายการบินพาณิชย์ของต่างประเทศหลายสายการบินแสดงความต้องการที่จะเพิ่มเส้นทางการบินมายังจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น

                          2.1.2 แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของพื้นที่นำร่องอื่นๆ แบบไม่กักตัว และให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่และพำนักในที่พักตามมาตรฐาน SHA+ และมาตรฐาน DMHTTA โดยให้มีการตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่แต่ละจังหวัดกำหนด ประกอบด้วย

                                   2.1.2.1 เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสนอขอให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัว และท่องเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ในระบบปิด (0+3+4 คืน) ในเดือนกรกฎาคม โดยมีขั้นตอนดังนี้ วันที่ 0 ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 และพักผ่อนในห้องพักเท่านั้น วันที่ 1-3 สามารถใช้บริการและทำกิจกรรมต่างๆ นอกห้องพักบริเวณโรงแรมได้ วันที่ 4-7 ท่องเที่ยวในอำเภอเกาะสมุยได้ตามเส้นทางและโปรแกรมที่กำหนดไว้ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 วันที่ 8-14 ท่องเที่ยวได้ภายในเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า หากออกนอกพื้นที่จะต้องขออนุญาต ศปก. พื้นที่เท่านั้น

                                   2.1.2.2 จังหวัดกระบี่ เสนอขอให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัวในพื้นที่เกาะพีพี ไร่เลย์ เกาะไหง ในเดือนกรกฎาคม และในพื้นที่เกาะลันตา อ่าวนาง และทับแขก ในเดือนสิงหาคม

                                   2.1.2.3 จังหวัดพังงา เสนอขอไม่กักตัวในพื้นที่เขาหลัก ในเดือนสิงหาคม

                                   2.1.2.4 จังหวัดเชียงใหม่ เสนอขอไม่กักตัวในเดือนสิงหาคม แต่ต้องอยู่ในโรงแรมเป็นเวลา 7 คืน โดยสามารถออกนอกห้องพักและออกไปทำกิจกรรมในเส้นทางและโปรแกรมที่กำหนดไว้ได้ อาทิ อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง และดอยเต่า

                                   2.1.2.5 จังหวัดชลบุรี (พัทยา) เสนอขอไม่กักตัวในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

                          2.1.3 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ

                                   2.1.3.1 เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมอบหมายให้ ททท. นำเสนอต่อ ศบค. และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

                                   2.1.3.2 มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วในพื้นที่นำร่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและขีดความสามารถของพื้นที่ในการควบคุมการแพร่ระบาด และจัดทำรายละเอียดแนวทางการดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

                 2.2 มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เสนอโดยทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ (ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ)

                          2.2.1 รายละเอียดมาตรการ

                          การดึงดูดผู้พำนักระยะยาวจะสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้ประเทศไทย รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการจ้างงานในอนาคต มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้พำนักระยะยาวจำนวน 1 ล้านรายเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินจากการใช้จ่ายภายในประเทศ 1 ล้านล้านบาท เกิดการลงทุน 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 2.5 แสนล้านบาท รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ โดยมีรายละเอียดข้อเสนอการดำเนินการใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) (2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional) ทั้งนี้ มีข้อเสนอมาตรการใน 2 มาตรการที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) มาตรการด้านการกำหนดวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR Visa) และ (2) มาตรการการจัดตั้งหน่วยบริการผู้พำนักระยะยาว (LTR sevice unit) ในรูปแบบองค์กรเอกชนที่ได้รับสัปทานจากกระทรวงการคลังเพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการนี้โดยเฉพาะ

                          2.2.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ

                                   2.2.2.1 เห็นด้วยกับข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศในระยะต่อไป

                                   2.2.2.2 มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณารายละเอียดของแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ และการทบทวนแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่จำเป็น และนำเสนอคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ พิจารณาต่อไป

                                   2.2.2.3 มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประสานทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ในส่วนของรายละเอียดหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพื่อรองรับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีคุณภาพและกำลังซื้อสูงภายใต้มาตรการ Thailand Flexible Plus Program ให้มีความสอดคล้องกับแผนการดึงดูดกลุ่มประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ โดยเมื่อได้ข้อยุติแล้ว ให้ ททท. นำเสนอมาตรการช่วยเหลืออสังหาริมทรัพย์ภายใต้ Elite Flexible Program ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มิถุนายน 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A6266

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!