การขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาสมัยพิเศษของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 June 2021 11:30
- Hits: 404
การขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาสมัยพิเศษของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาสมัยพิเศษของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 15 (15th ASEAN Defence Minister’s Meeting: 15th ADMM) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8 (8th ASEAN Defence Minister’s Meeting Plus: 8th ADMM – Plus) (ร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ) จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
1. ร่างปฏิบัญญาบันดาร์ เสรี เบกาวัน เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 15 ปี ของการก่อตั้งกลไกการประชุม ADMM เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต สันติภาพ และความมั่งคั่งของอาเซียน (ร่างปฎิญญาฯ ADMM)
2. ร่างปฏิญญาบันดาร์ เสรี เบกาวัน ของการประชุม ADMM – Plus เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 15 ปี ของการก่อตั้งกลไกการประชุม ADMM เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต สันติภาพ และความมั่งคั่งของอาเซียน (ร่างปฏิญญาฯ ADMM - Plus)
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือผู้แทนเป็นผู้รับรองร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ (กระทรวงกลาโหมมีกำหนดการรับรองร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ ระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2564)
สาระสำคัญ
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุม ADMM ครั้งที่ 15 และการประชุม ADMM – Plus ครั้งที่ 8 ด้วยระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2564 โดยมีกระทรวงกลาโหม เนการาบรูไนดารุสซาลาม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งในห้วงการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิญญาฯ ADMM และร่างปฏิญญาฯ ADMM – Plus
ร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายร่วมกันในโอกาสฉลองครบรอบ 15 ปี การก่อตั้งกลไกการประชุม ADMM ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงของภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกมิติ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ร่างปฏิญญาฯ ADMM |
ร่างปฏิญญาฯ ADMM – Plus |
|
- มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความตระหนักถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ และเป็นภูมิภาคที่มีวิสัยทัศน์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยยังรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน - ให้ความสำคัญต่อการประชุม ADMM และ ADMM – Plus ซึ่งเป็นเวทีการประชุมที่สำคัญสำหรับการหารือทางด้านยุทธศาสตร์และความร่วมมือในทางปฏิบัติในด้านการทหาร โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และให้คำมั่นสัญญาแก่ภาคีทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาในประเด็นทะเลจีนใต้อย่างสร้างสรรค์และสันติ ผ่านการบังคับใช้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้และประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ ยังยึดมั่นในการสนับสนุนความมั่นคงทางทะเล ความปลอดภัยเสรีภาพการเดินเรือและการบินข้ามน่านฟ้า เพื่อนำไปสู่การแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างสันติ - เสริมสร้างความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของอาเซียนและภาคีภายนอก ผ่านศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ และรังสี ในรูปแบบการปรึกษาหารือ การแลกเปลี่ยนการปฏิบัติ การถอดบทเรียน และแสวงหารูปแบบใหม่ของการทำงานร่วมกัน รวมทั้งความร่วมมือข้ามเสาประชาคมและข้ามสาขาเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมของอาเซียนในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข - รับรองร่างเอกสารความร่วมมือริเริ่มใหม่ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเสนอโดยประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 8 ฉบับ - เห็นชอบการเสนอการจัดประชุมเฉพาะกิจในกรอบการประชุม ADMM – Plus ว่าด้วยภัยคุกคามด้านเคมี ชีวภาพ และรังสี เพื่อสนับสนุนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากสารเคมี ชีวภาพ และรังสีจากเหตุการณ์การก่อการร้ายในภูมิภาค ผ่านการแบ่งปันด้านข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนการปฏิบัติ การส่งเสริมความร่วมมือ และการเตรียมพร้อม ในการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว รวมทั้งการจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ และรังสีในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ - ต้อนรับการเป็นประธานอาเซียนและการเป็นเจ้าภาพการประชุม ADMM ครั้งที่ 16 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2565 |
- ให้ความสำคัญต่อการประชุม ADMM และ ADMM – Plus ซึ่งเป็นเวทีการประชุมที่สำคัญสำหรับการหารือทางด้านยุทธศาสตร์และดำเนินความร่วมมือในเชิงปฏิบัติของกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเน้นย้ำความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและยกระดับการหารือและความร่วมมือในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เร่งด่วน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนกฎระเบียบระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศตามที่ระบุในกฎหมายระหว่างประเทศ - ยินดีต้อนรับต่อความสนใจจากพันธมิตรอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการสนับสนุนการดำเนินงานของการประชุม ADMM เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค และยินดีต่อการมีส่วนร่วมในเชิงบวกที่สอดคล้องกันของประเทศคู่เจรจาเพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นใหม่ รวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคระบาด และการบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ - เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้านความมั่นคงในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ขีดความสามารถของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ และรังสี ของอาเซียน - สนับสนุนการแสวงหาความร่วมมือและความคิดริเริ่มด้านความมั่นคงในทางปฏิบัติที่มีส่วนส่งเสริมขีดความสามารถของหน่วยงานด้านความมั่นคงและทางทหาร เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ของภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการเจรจาทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงและการทหารของภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา - สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนการเคารพในอธิปไตย และบรูณภาพแห่งดินแดนกระบวนการตัดสินใจผ่านฉันทามติ ความยืดหยุ่นบนพื้นฐานของความสมัครใจและไม่มีผลผูกพัน รวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากรของประเทศสมาชิกภายใต้การควบคุมและสั่งการแห่งชาติ - ต้อนรับการจัดประชุม ADMM – Plus ครั้งที่ 9 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2565 |
ร่างปฏิญญาสมัยพิเศษฯ ทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาโดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6263
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ