รายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจของไทย พุทธศักราช 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 June 2021 10:30
- Hits: 499
รายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจของไทย พุทธศักราช 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจของไทย พุทธศักราช 2564 (Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2021 - VNR) และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดส่งรายงานให้ United Nations Department of Economic and Social Affairs (UN DESA) ภายในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 โดยอนุญาตให้กระทรวงการต่างประเทศปรับปรุงแก้ไขร่างรายงานฯ ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างรายงานฯ และ/หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย หากมีความจำเป็น รวมทั้งเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนำเสนอรายงานฯ และตอบข้อซักถาม (ถ้ามี) ต่อที่ประชุม High-level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) ประจำปี 2564 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ให้ความสำคัญกับการติดตามและทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาฯ อย่างเป็นระบบ โดยวรรค 79 ของข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่ 70/1 เรื่อง Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development ซึ่งได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการในระดับชาติเป็นประจำ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และวรรค 84 ระบุให้ที่ประชุม HLPF จัดการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาฯ ของประเทศต่างๆ เป็นประจำ โดยเป็นการทบทวนโดยสมัครใจเป็นกระบวนการที่นำโดยประเทศ (State-led) ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา และเป็นเวทีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
2. รายงาน VNR ประจำปี 2564 มีสาระครอบคลุมการดำเนินงานด้าน SDGs ของไทยในทั้ง 17 เป้าหมาย โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อการขับเคลื่อน SDGs ความท้าทายที่ประสบและการดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิมโดยรัฐบาลไทยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาของไทย (home-grown development approach) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ การสร้างภูมิต้านทาน และการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มาปรับใช้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายด้านการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลประกาศใช้เป็นแนวทางการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
3. รายงาน VNR ย้ำความสำคัญของการขับเคลื่อนการดำการตาม SDGs อย่างบูรณาการโดยทุกภาคส่วนในประเทศและความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs แต่ละเป้าหมาย โดยนำเสนอตัวอย่างทบทวนของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเครือข่ายเยาวชน และประชาชนทั่วไปในการขับเคลื่อน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในกระบวนการจัดทำรายงาน VNR ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างรายงานฯ เพื่อให้รายงานมีความครอบคลุม สมดุล และสะท้อนความเห็นจากทุกภาคนส่วน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6262
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ