รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 June 2021 23:57
- Hits: 483
รายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอว่า ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่ง มีข้อสังเกตว่าการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ควรเป็นหน่วยงานประสานนโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดินของประเทศกับหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดิน ควรคำนึงถึงความเหมาะสม มีความคุ้มค่าความประหยัดในการใช้จ่ายงบประมาณ และเน้นผลสัมฤทธิ์ในการบริหารงานภาครัฐตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 การจัดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของ สคทช. ต้องเป็นไปตามที่ ก.พ.ร. และ ก.พ. กำหนดโดยเร็ว และ สคทช. ควรมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานให้ชัดเจน นอกจากนี้ ควรให้มีการประสานและบูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ได้แก่ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) รวมทั้งควรเร่งรัดการดำเนินการ เรื่อง การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ทส. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ |
รายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตฯ |
|
1. การจัดตั้ง สคทช. ตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวควรเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และประสานงานนโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศกับหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวกับที่ดินทุกหน่วยงานของรัฐให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดินระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองหรือปัญหาที่ดินของหน่วยงานของรัฐกับประชาชน |
- สคทช. เป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ คทช. ได้มีการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเพื่อเป็นกรอบนโยบายหลัก (Policy Framework) ระยะยาวของประเทศ และแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ 4 ด้าน ได้แก่ นโยบายที่ 1 ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ นโยบายที่ 2 ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นโยบายที่ 3 ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นโยบายที่ 4 ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายหลัก 4 ด้าน โดยนโยบายที่สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ การดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้ คทช. (ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม) ซึ่งพบว่า สมาชิกในโครงการมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น |
|
2. การจัดตั้ง สคทช. ให้คำนึงถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่า ความประหยัดในการใช้จ่ายงบประมาณ และเน้นผลสัมฤทธิ์ในการบริหารงานภาครัฐตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และการจัดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง ของ สคทช. ต้องเป็นไปตามที่ ก.พ.ร. และ ก.พ. กำหนดโดยเร็ว และไม่สมควรมีการจัดตั้งสำนักงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ ดินขึ้นเพิ่มเติมในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมทั้งควรปรับปรุงกระบวนการทำงานของหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการทำงาน |
- สคทช. จะทำหน้าที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และควบคุมดูแลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้มีเอกภาพ มีกรอบแนวทางการพัฒนาภารกิจและการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภายใต้แผนบูรณาการการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและแก้ปัญหาที่ดินทำกินได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น - ภายหลังจากการตั้ง สคทช. หน่วยงานมีแผนการขอตั้งงบประมาณแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับการขอตั้งงบประมาณในปี พ.ศ. 2559 และ 2560 เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด - สำหรับการจัดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของ สคทช. นั้น สำนักงาน ก.พ.ร. และ สำนักงาน ก.พ. มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังและการกำหนดตำแหน่งของ สคทช. ซึ่งคำนึงถึงความเหมาะสมของโครงสร้างและอัตรากำลัง การตัดโอนตำแหน่ง และการซ้ำซ้อนของหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน ส่วนการปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการทำงาน สคทช. ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจของหน่วยงานเพื่อพัฒนาเครือข่ายข้อมูลทางด้านที่ดินและทรัพยากรดินในการสนับสนุนการวางแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ |
|
3. สคทช. ควรมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานให้ชัดเจน และสมควรให้มีการประสานและบูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ได้แก่ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินของรัฐและดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดินของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า นำมาให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง และควรเร่งรัดการดำเนินการเรื่องการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1: 4000 (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว |
- สคทช. จะมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้นโยบายและแผนฯ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายและแผนฯ ดังกล่าว ดังนี้ 1) การติดตามและประเมินผลตามเป้าหมายในระยะครึ่งแผนของแผนปฏิบัติการฯ : หลังจากมีการประกาศใช้แผนฯ เพื่อรายงานความก้าวหน้าและนำผลการประเมินที่ได้ไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนฯ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และนำผลการประเมินที่ได้ไปใช้ประกอบการพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของแผนฯ และกลไกการขับเคลื่อน กลยุทธ์ของแผนฯ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 2) การติดตามและประเมินผลตามเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดของแผนปฏิบัติการฯ : เพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ และรวบรวมปัญหา อุปสรรค จากการขับเคลื่อนกลไกในการปฏิบัติตามมาตรการ แนวทางที่กำหนดไว้ และนำไปใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อทบทวนการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ในระยะต่อไป - สำหรับการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1: 4000 (One Map) คทช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรม-การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1: 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้จัดประชุมเพื่อพิจารณากรอบแนวทางในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ และมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทั้งระบบ รวมทั้งเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการกับผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการและดำเนินการตรวจสอบแผนที่แนวเขตที่ดินให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้ภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการที่ดินโดยเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนด |
|
4. เนื่องจากได้มีส่วนราชการระดับกรมที่ถูกจัดตั้งโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าวด้วย |
- หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ในบางมาตราที่มีบทรองรับคำสั่งหัวหน้า คสช. จะมีผลกระทบต่อ พ.ร.บ. ปรับปรุงฯ มาตรา 6 ซึ่งจัดตั้งส่วนราชการระดับกรม (สทนช.และ สคทช.) ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่เป็นผลเสียมากกว่าผลดีในการดำเนินงานของหน่วยงาน จะต้องกำหนดบทรองรับความคงอยู่ของหน่วยงานนั้นๆ ไว้ด้วย ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าเพื่อให้เป็นข้อคำนึงในกรณีที่มีพระราชบัญญัติปรับปรุงฯ โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือคำสั่งอื่นในทำนองเดียวกัน เช่น ของคณะปฏิวัติและคณะปฏิรูป ก็ควรคำนึงถึงความคงอยู่ของหน่วยงานด้วย เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวอาจถูกยกเลิกและมีผลกระทบต่อสถานะของหน่วยงานได้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6068
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ