ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 June 2021 23:42
- Hits: 257
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะรวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) หลักการพื้นฐานการพัฒนาและขยายช่องทางสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น การเพิ่มพื้นที่และคุณภาพของสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน การเพิ่มอำนาจในการสื่อสารของเด็กและเยาวชน เป็นต้น (2) ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น รัฐบาลควรกำหนดให้เรื่องสื่อของเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นวาระของชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน กำหนดนโยบายการส่งเสริมที่ชัดเจนและเพิ่มพื้นที่กิจกรรมหลากหลายสำหรับเด็กให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เป็นต้น
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (พปส.) เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ดศ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. หลักการพื้นฐานการพัฒนาและขยายช่องทางสื่อดีสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น การเพิ่มพื้นที่และคุณภาพของสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน การเพิ่มอำนาจในการสื่อสารของเด็กและเยาวชน และการคำนึงถึงความหลากหลายครอบคลุมเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ เป็นต้น |
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆ ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของเด็กในทุกมิติ และควรเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อ อีกทั้งรัฐบาลควรสนับสนุนการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนให้มีความต่อเนื่อง |
|
2. ข้อเสนอเชิงนโยบาย 2.1 รัฐบาลควรกำหนดให้เรื่องสื่อของเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นวาระของชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน |
กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้อง คุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อประสานการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน |
|
2.2 ให้ กสทช. กำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในการดำเนินการตามประกาศหรือแนวปฏิบัติขององค์กรสื่อสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว | กสทช. ได้จัดประชุมและอบรมให้ความรู้แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งกำกับดูแลให้มีการออกอากาศรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัวตามผังรายการที่ได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. | |
2.3 รัฐบาล และ กสทช. ควรสนับสนุนการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์สำหรับเด็กในรูปแบบของสื่อประเภทบริการสาธารณะ ซึ่งมีภาครัฐเป็นผู้ลงทุนหลัก | กสทช. จะมีการจัดทำแผนและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการจัดสรรให้กับสถานีวิทยุกระจายเสียง ประเภทบริการสาธารณะ โดยจะมีสถานีวิทยุกระจายเสียงสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวไปรวมอยู่ด้วย | |
2.4 ขอให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการอ่านที่ชัดเจน | กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีนโยบายในเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน เช่น โครงการที่อ่านหนังสือท้องถิ่นรักการอ่าน โครงการพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียน เป็นต้น | |
2.5 รัฐบาลควรมีนโยบายเพิ่มพื้นที่กิจกรรมหลากหลายสำหรับเด็กให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ | กรมกิจการเด็กและเยาวชนมีการดำเนินโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของสภาเด็กและเยาวชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายการพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับชาติ ภายใต้หลักการ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” | |
2.6 รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องสื่อ การเลือกสรรสื่อที่ดี และการรู้เท่าทันสื่อแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน |
- กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ดำเนินการอบรมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และกรณีภัยออนไลน์ต่อเด็ก - สป.ดศ. โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้มีการดำเนินงานโครงการอบรมเยาวชนร่วมใจต้านภัยไซเบอร์ (จ่าฮูกสอนเด็ก) และโครงการอบรมครูไซเบอร์ |
|
2.7 แหล่งทุนที่เกี่ยวกับสื่อ ควรกำหนดสัดส่วนการให้ทุนสนับสนุนสื่อสำหรับเด็ก | หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจในการพัฒนาสติปัญญาการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนควรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดสรรงบประมาณ | |
2.8 รัฐบาลควรออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อเด็ก และร่วมสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ | ควรออกแนวทางส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ร่วมกันคิดและดำเนินโครงการในมิติต่างๆ ทั่วประเทศ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6066
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ