ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 June 2021 22:32
- Hits: 146
ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 และเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กนช. และข้อสั่งการของประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ประธาน กนช.) ในการประชุม กนช. ครั้งที่ 1/2564 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ และในการดำเนินการครั้งต่อไป หากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประสงค์จะจัดทำข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ในการประชุม กนช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เรื่อง |
ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน กนช./ มติที่ประชุม |
|
1. เรื่องเพื่อทราบ (จำนวน 9 เรื่อง) |
||
1.1 ผลการดำเนินการตามมติ กนช. ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และประธาน กนช. (1) โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ได้แก่ 1) โครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ที่ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว 38 โครงการ งบประมาณ 203,715 ล้านบาท (ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว 34 โครงการ) 2) โครงการขนาดใหญ่ที่หน่วยงานเสนอในแผนบูรณาการปี 2565 แต่ยังไม่ผ่าน กนช. 19 โครงการ และ 3) แผนการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ปี 2564-2566 จำนวน 526 โครงการ (2) ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะทำงานติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 78 โครงการ (3) มติ กนช. ที่เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ ร่างรายงาน Country Survey Instrument for SDG Indicator 6.5.1 และ ร่าง Reporting SDG Indicator 6.5.2 เสนอองค์การสหประชาชาติ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (9 มีนาคม 2564) รับทราบ] 2) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 48,687 รายการ วงเงิน 366,538.842 ล้านบาท [คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มีนาคม 2564) เห็นชอบ] และ 3) การกำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 22 และมาตรา 36 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 เมษายน 2564) อนุมัติ] (4) แนวทางการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามนโยบายรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : 1. ควรเร่งการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง 2. ให้ทุกหน่วยงานผลิตและเผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านสื่อช่องทางต่างๆ อย่างน้อย 1 เรื่องต่อสัปดาห์และจัดส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทุกวันจันทร์ เพื่อนำไปเผยแพร่ซ้ำผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม โดย สทนช. จะรวบรวมผลการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานด้านทรัพยากรน้ำรายงานนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีต่อไป ความเห็นของ กนช. : การประชาสัมพันธ์ควรจัดทำเป็นลักษณะสื่อที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ ข้อสั่งการของประธาน กนช. : 1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2. ให้ทุกหน่วยงานที่มีการประชาสัมพันธ์เรื่องทรัพยากรน้ำแจ้ง สทนช. เพื่อบูรณาการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป 3. ให้ สทนช. บูรณาการทุกหน่วยงาน จัดตั้งเป็นคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ผลงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มติที่ประชุม : รับทราบ และให้ดำเนินการตามความเห็นของ กนช. ฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. แล้วรายงานผลการดำเนินงานให้ สทนช. ทราบต่อไป |
|
1.2 ผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ปี 2561-2564 สรุปได้ดังนี้ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน ขยายเขตประปาเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงเขตประปาเมืองหลักพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว และการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐานน้ำดื่ม ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เช่น แหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน แหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ แหล่งน้ำชุมชน เป็นต้น ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ และการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยก่อสร้างระบบบำบัดน้ำใหม่ ปรับปรุงระบบบำบัดเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน ด้านที่ 6 การบริหารจัดการในช่วงปี 2561-2562 มีการจัดทำกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จ 18 ฉบับ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด การประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ เป็นต้น |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : 1. ควรเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนแม่บทฯ เช่น การพัฒนาขยายเขตให้บริการประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจและจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐานน้ำดื่ม จัดทำบัญชีสินทรัพย์เพื่อดำเนินการถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นต้น 2. ควรให้หัวหน้าส่วนราชการกำชับและมอบหมายผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการด้านแหล่งน้ำที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากทุกแหล่งงบประมาณทุกแผนงานที่สอดคล้องตามแผนแม่บทฯ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้ สทนช. ทราบเป็นประจำทุกเดือน ความเห็นของ กนช. : เห็นควรกำชับให้ อปท. รับช่วงการดูแลและบำรุงรักษาแหล่งน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเก็บค่าน้ำ ค่าธรรมเนียม เพื่อไม่ให้แหล่งน้ำเกิดความเสียหาย ข้อสั่งการของประธาน กนช. : ให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและรายงานผลให้ กนช. ทราบต่อไป มติที่ประชุม : รับทราบ และให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. ความเห็นของ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป |
|
1.3 ความก้าวหน้าแผนงานโครงการที่เสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และงานนโยบายที่นายกรัฐมนตรีตรวจงานในพื้นที่ และการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (1) แผนงานโครงการที่เสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และงานนโยบายนายกรัฐมนตรีตรวจงานในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2562 รวม 11 ครั้ง มีแผนงานโครงการทั้งสิ้น 109 โครงการ วงเงิน 19,755.05 ล้านบาท (2) แผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางฯ 31,054 โครงการ วงเงิน 28,856.27 ล้านบาท งบประมาณจัดสรร 23,286 โครงการ วงเงิน 23,264.36 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ 11,386 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 53.14) และอยู่ระหว่างดำเนินการ 10,041 โครงการ |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : 1. ให้หน่วยงานเร่งรัดเสนอโครงการฯ เพื่อของบประมาณดำเนินการภายในปี 2566 2. ให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินงานโครงการที่ได้รับงบประมาณฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2564 และให้รายงานความคืบหน้าให้ สทนช. ทราบจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ 3. โครงการที่จะแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณฯ จะต้องผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดตามขั้นตอนการเสนอของบประมาณด้านทรัพยากรน้ำ ข้อสั่งการของประธาน กนช. : 1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเสนอโครงการ โดยร่วมบูรณาการกับ สทนช. 2. แผนงานโครงการที่เสนอขอตั้งงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำต้องเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดด้วย มติที่ประชุม : รับทราบ และให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป |
|
1.4 ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. (1) ด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เช่น เร่งรัดขับเคลื่อนแผนงานตามแผนหลักการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่บึงบอระเพ็ด บึงราชนก หนองหาร และบึงสีไฟ จัดทำกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำ การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ แก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ เป็นต้น (2) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้แก่ 1) ความก้าวหน้าการคัดเลือกโครงการนำร่องและจัดทำแผนหลักโครงการนำร่องจากบัญชีพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง 2) การดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 และ 3) แนวทางการแก้ไขปัญหาความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม (3) ด้านเทคนิคและวิชาการ เช่น แนวทางการจัดทำผังน้ำปี 2563-2565 การกำหนดมาตรฐานรูปแบบข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น (4) คณะอนุกรรมการในพื้นที่ (Area) เช่น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม สถานการณ์น้ำและภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลาง ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ และปัญหาการปลูกข้าวนาปรังมากกว่าแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดนครพนม สกลนคร และศรีสะเกษ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น (5) คณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. เห็นชอบให้เสนอ กนช. พิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่ การวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 2564 และมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 และแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ |
มติที่ประชุม : รับทราบ |
|
1.5 รายงานการชี้แจงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิจารณาญัติอภิปรายทั่วไป ในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 |
มติที่ประชุม : รับทราบ |
|
1.6 ผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 รวม 9 มาตรการ เช่น การเร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝน การจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การปฏิบัติการเติมน้ำ (ฝนหลวง) เป็นต้น |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : 1. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) สนับสนุนการลำเลียงน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมายตามแผนอย่างเคร่งครัด 2. ให้ กษ. กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อลดการใช้น้ำในระดับตำบล และจัดทำแนวทางการขับเคลื่อน (Road Map) ให้เป็นรูปธรรม พร้อมรายงาน กนช. ในคราวประชุมครั้งถัดไป ข้อสั่งการของประธาน กนช. : ให้ กษ. เร่งกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพน้ำต้นทุนและรายงาน กนช. ในคราวประชุมครั้งถัดไป มติที่ประชุม : รับทราบ และให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป |
|
1.7 ความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับการออกกฎหมายลำดับรอง 21 ฉบับ (มีผลบังคับใช้แล้ว 13 ฉบับ) การจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ใช้บังคับ |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนั้น เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเดิมสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาให้คณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำเดิม (25 ลุ่มน้ำ) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำใหม่ (22) ลุ่มน้ำ) ไปจนกว่าการคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำจะแล้วเสร็จ ข้อสั่งการของประธาน กนช. : ให้ สคก. เร่งพิจารณาเพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำสามารถปฏิบัติงานได้จนกว่าการคัดสรรคณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่จะแล้วเสร็จ มติที่ประชุม : รับทราบ และให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. ต่อไป |
|
1.8 การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่าง สทนช. และกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 |
มติที่ประชุม : รับทราบ |
|
1.9 ถ้อยแถลงและสารของนายกรัฐมนตรีเนื่องในโอกาสสำคัญด้านน้ำ เช่น ถ้อยแถลงในวันน้ำโลก (วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี) |
มติที่ประชุม : รับทราบ |
|
2. เรื่องเพื่อพิจารณา (จำนวน 5 เรื่อง) |
||
2.1 การวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 2564 และมาตรการการรับมือฤดูฝน ปี 2564 (1) การวางแผนการจัดสรรน้ำ คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีปริมาณน้ำรวม 8,371 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 18 ของปริมาณน้ำใช้การได้ ซึ่งน้อยกว่าปี 2563 ในช่วงเวลาเดียวกัน 2,078 ล้านลูกบาศก์เมตร (2) มาตรการการรับมือฤดูฝน ปี 2564 9 มาตรการ ได้แก่ 1) การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 2) การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำหลาก 3) การทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4) การซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5) การปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6) การขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7) การเตรียมความพร้อมเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ 8) การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 9) การติดตาม ประเมินผล [คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 พฤศภาคม 2564) รับทราบ] |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : 1. หากหน่วยงานมีการปรับปรุง เพิ่มเติมมาตรการรับมือฤดูฝน ขอให้เสนอ สทนช. พิจารณา เพื่อจะได้ดำเนินการและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 2. เห็นควรเพิ่มมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงการส่งน้ำ มติที่ประชุม : เห็นชอบ และให้หน่วยงานที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. ส่งข้อมูลให้ สทนช. พิจารณาดำเนินการและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป |
|
2.2 การปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยปรับปรุงจากเดิม 48,687 รายการ วงเงิน 366,538.842 ล้านบาท เป็น 48,115 รายการ วงเงิน 353,800.046 ล้านบาท (เนื่องจากมีรายการซ้ำซ้อน ข้อมูลไม่ครบถ้วนและยังไม่ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่) |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : 1. การปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ การเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรและการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการระหว่างหน่วยรับงบประมาณที่เป็นรายการใหม่ ให้หน่วยงานใช้รายการจากแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำที่ กนช. เห็นชอบแล้วหรือเป็นงานเตรียมความพร้อมและดำเนินโครงการด้านน้ำตามนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี 2. ให้หน่วยงานส่งข้อมูลโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่ใช้งบประมาณแผ่นดินและเงินนอกงบประมาณ ให้ สทนช. เพื่อใช้วิเคราะห์การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำและตรวจสอบความซ้ำซ้อน ข้อสั่งการของประธาน กนช. : ให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นฝ่ายเลขานุการ กนช. และส่งข้อมูลให้ สทนช. ตรวจสอบความซ้ำซ้อนเพื่อความชัดเจนและถูกต้อง มติที่ประชุม : เห็นชอบ และให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. |
|
2.3 แผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 79,955.760 ล้านบาท คณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูคลองแสนแสบ มีความเห็น ดังนี้ (1) โครงการระบบบำบัดน้ำเสียมีวงเงินงบประมาณสูง จึงขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และใช้งบประมาณจากรายได้ก่อนเป็นลำดับแรก (2) โครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ให้เสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญพิจารณาก่อนเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (3) โครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรน้ำ ให้หน่วยงานขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนปกติของหน่วยงานต่อไป (4) ควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ผลการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง |
ข้อสั่งการของประธาน กนช. : 1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการบริหารฯ ต่อไป 2. ให้หน่วยงานเร่งดำเนินการและจัดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมาใสสะอาดตามความต้องการของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มติที่ประชุม : เห็นชอบ โดยให้ กทม. เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการ บริหารฯ และข้อสั่งการของประธาน กนช. |
|
2.4 การจัดทำขอบเขตสำหรับการหารือระดับชาติเรื่องน้ำในประเทศไทย [Terms of Reference (TOR) for a National Dialogue on Water in Thailand] เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงนโยบายด้านน้ำที่สำคัญให้สอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านน้ำในภูมิภาคเอเชีย และสนับสนุนการลงทุนด้านความมั่นคงด้านน้ำและการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคเอเชีย |
ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนข้อมูลให้ สทนช. เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ สทนช. ประสาน ติดตาม และรายงานความก้าวหน้าให้ กนช. ทราบ มติที่ประชุม : เห็นชอบ และให้หน่วยงานดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. |
|
2.5 การแต่งตั้ง ปรับปรุง แก้ไข และยกเลิกคำสั่งคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. |
มติที่ประชุม : เห็นชอบ |
ข้อสั่งการเพิ่มเติมของประธาน กนช. มีดังนี้
1. ให้ กษ. เร่งวางแผนเรื่องการเพาะปลูก โดยระบุพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจน โดยต้องประสานงานกับ มท. และแจ้งให้จังหวัดทราบ
2. แผนงานโครงการที่หน่วยงานขอตั้งงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำ ต้องเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและส่งข้อมูลให้ สทนช. พิจารณา
3. ให้หน่วยงานเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6060
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ