ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1 และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 June 2021 21:52
- Hits: 377
ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1 และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกล
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN Digital Ministers Meeting: ADGMIN) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล และมอบหมายหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025: ADM 2025) ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 18 – 22 มกราคม 2564 โดยมีสหพันธรัฐมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 การแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในภูมิภาค ภายใต้แนวคิดหลักของการประชุม “อาเซียน :ประชาคมที่เชื่อมโยงกันด้วยดิจิทัล” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้แสดงบทบาทและวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือด้านดิจิทัลในการควบคุมการแพร่ระบาดฯ และการบูรณาการด้านดิจิทัลร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิตและโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างครอบคลุม รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025
1.2 ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
(1) ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ปี 2563 ภายใต้การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Senior Officials ADGSOM) และสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน (ASEAN Telecommunication Regulators’ Council: ATRC) ซึ่งได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญ เช่น แนวทางการดำเนินงานสำหรับกรอบการจัดการข้อมูลอาเซียนและกลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 และข้อริเริ่มอาเซียนในการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดระบบนิเวศโอทีทีที่ยั่งยืน* นอกจากนี้ ADGSOM และ ATRC มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น รายงานการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน ค.ศ. 2020 โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ 5G ในอาเซียน และโครงการศึกษาการลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศ ระยะที่ 1
(2) ผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN Cybersecurity Coordinating Committee Meeting: ASEAN Cyber - CC) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การรับรองขอบเขตการดำเนินงานของ ASEAN Cyber - CC และแผนการดำเนินงาน รวมทั้งการหารือถึงแนวทางการดำเนินงานในการปฏิบัติตามบรรทัดฐานของรัฐเรื่องความรับผิดชอบบนโลกไซเบอร์ 11 ข้อ
1.3 ที่ประชุมได้เห็นชอบเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
(1) อนุมัติงบประมาณ 224,700 ดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุน ASEAN ICT Fund เพื่อใช้ดำเนินโครงการและกิจกรรมสำหรับปี 2564 โดยมีโครงการและกิจกรรมในส่วนของประเทศไทย 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการ Study on ICT Startup Problems and Developing Policy for Their Growth (ได้รับงบประมาณสนับสนุน 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และ (2) โครงการ ASEAN Strategic Guidance for Artificial Intelligence and Digital Workforce (ได้รับงบประมาณสนับสนุน 25,5500 ดอลลาร์สหรัฐ)
(2) เห็นชอบและรับรองแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมือของอาเซียนด้านดิจิทัลในระยะ 5 ปี (ปี 2564 - 2568) ภายใต้วิสัยทัศน์ “อาเซียน : ประชาคมชั้นนำด้านดิจิทัล และกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี บริการดิจิทัล และระบบนิเวศที่มีความปลอดภัยและปรับเปลี่ยนได้” ทั้งนี้ แผนแม่บทฉบับที่ได้มีการรับรองได้มีการปรับแก้จากฉบับที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 โดยเป็นการปรับถ้อยคำให้มีความกระชับและยึดหยุ่นมากขึ้น ระบุขอบเขตการดำเนินงานเฉพาะที่สอดคล้องกับสาขาดิจิทัล และปรับแนวทางการวัดผลความสำเร็จของแผนแม่บทฯ ให้มีความเหมาะสม (ดศ. แจ้งว่า เป็นการปรับเปลี่ยนร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว)
2. การประชุมระหว่างอาเซียนและคู่เจรจา [สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐอินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU)] มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 กิจกรรมความร่วมมือในปี 2563 ได้แก่
คู่เจรจา |
กิจกรรมความร่วมมือ |
สาธารณรัฐประชาชนจีน |
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน – จีน |
ประเทศญี่ปุ่น |
• การแลกเปลี่ยนนโยบายด้านไอซีที • การแจ้งเตือนภัยพิบัติอัจฉริยะ • การพัฒนาระบบนิเวศ 5G • การพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยศูนย์ความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN – Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) |
สาธารณรัฐเกาหลี |
• การส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรม ความเชื่อมโยง การพัฒนาด้านบุคลากรและความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ |
สหรัฐอเมริกา |
• การพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล • การพัฒนาระบบนิเวศ 5G • การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ • ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ |
สาธารณรัฐอินเดีย |
• การพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาออนไลน์ • การพัฒนาขีดความสามารถและการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับนโยบายและกฎระเบียบ • การฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมขั้นสูงและเครือข่าย |
สหภาพโทรคมนาคม ระหว่างประเทศ |
การสนับสนุนการพัฒนาด้านไอซีที ได้แก่ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบนิเวศ 5G และบริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศ |
2.2 ที่ประชุมได้รับรองแผนงานความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารระหว่างอาเซียนและคู่เจรจา ปี 2564 โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น การยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัล การพัฒนาด้านบุคลากร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ และการพัฒนาเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025
2.3 ในโอกาสนี้ ประเทศไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงกับคู่เจรจาโดยแสดงความขอบคุณในการส่งเสริมความร่วมมือด้านไอซีทีในภูมิภาคอาเซียนด้วยดีมาตลอด และประเทศไทยยินดีที่จะสนับสนุนอาเซียนและคู่เจรจาเพื่อพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นประชาคมที่เชื่อมโยงด้วยดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป
3. ดศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 เช่น การยกระดับคุณภาพและความครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งแบบประจำที่และเคลื่อนที่ การสร้างบริการดิจิทัลที่เชื่อถือได้ และการคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างตลาดที่มีการแข่งขันอย่างยั่งยืนด้วยการจัดหาบริการดิจิทัลและการเพิ่มศักยภาพให้กับภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
__________________
* โอทีที (Over – the – top: OTT) คือการให้บริการผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด โดยที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่มีการลงทุนหรือเป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง เช่น การเสนอเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์ม Facebook YouTube หรือ Netflix
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มิถุนายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6057
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ