โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 May 2021 12:52
- Hits: 1182
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่
2. อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ วงเงิน 1,329.22 ล้านบาท ประกอบด้วย
2.1 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,264.20 ล้านบาท แบ่งเป็น
รายการ |
จำนวน (ล้านบาท) |
(1) งบอุดหนุนทั่วไป เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างและกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ |
864.00 |
(2) งบดำเนินงาน - ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกมันสำปะหลังสะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง - ค่าธรรมเนียมการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) |
400.20 400.00
0.20 |
2.2 งบดำเนินงาน จำนวน 65.02 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาปรับจากแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการ
3. อนุมัติการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร กษ. ทั้งที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิ
โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
1) ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้มีการนำเข้าหรือลักลอบนำเข้าต้นพันธุ์หรือท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่าง และการกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบที่เป็นพาหะของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ด้วย
2) พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่ได้รับการชดเชยตามโครงการฯ ไปแล้ว แต่ภายหลังพบว่ามีการลักลอบนำมันสำปะหลังที่ติดโรคมาปลูกใหม่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว
3) ร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดให้เกษตรกรมีการทำประกันภัยผลผลิตมันสำปะหลังเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในกรณีต่างๆ ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 กันยายน 2562 และ 24 กันยายน 2562) กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำจัดต้นมันสำปะหลังเป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบได้ทั้งสิ้น 26,109.225 ไร่ ในพื้นที่ 11 จังหวัด1 (ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายและพื้นที่ระบาดนอกเหนือจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ) และจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรไปแล้วทั้งหมด 2,413 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบพาหะนำโรค รวมถึงการดำเนินโครงการไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิและพื้นที่ระบาดส่งผลให้สถานการณ์การระบาดมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ 27 จังหวัด2 รวมจำนวนพื้นที่ระบาด 400,000 ไร่
2. กษ. จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ขึ้นเพื่อกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในทุกพื้นที่และตัดวงจรการระบาดของโรค ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน) ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว รายละเอียดของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
1. วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง (2) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลังทดแทนมันสำปะหลังเป็นโรคในพื้นที่ระบาด (3) เพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดของโรคขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ (4) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง |
2. พื้นที่ดำเนินการ |
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัด |
3. ระยะเวลา ดำเนินโครงการ |
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 25633 - กันยายน 2564 |
4. กิจกรรม |
(1) กำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างและชดเชยค่าทำลายต้นมันสำปะหลังให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ (1.1) เป็นแปลงที่พบต้นมันสำปะหลังที่มีสภาพที่สงสัยหรือส่อว่าจะมีการติดเชื้อและจะเป็นต้นตอของการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังยืนต้นอยู่ในแปลง (1.2) วิธีการทำลายต้องเป็นตามหลักวิชาการที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำและต้องทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้งหลังจากคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังระดับตำบลพิจารณารับรอง และเมื่อผ่านไป 30 วัน ต้องไม่มีต้นงอกใหม่ (1.3) อัตราค่าชดเชยการทำลายให้กับเกษตรกรที่กำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบพาหะนำโรค ไร่ละ 2,160 บาท (เป็นอัตราที่ กค. เห็นชอบความเหมาะสมแล้ว) (1.4) กรณีเกษตรกรไม่ยินยอมให้ทำลายต้นมันสำปะหลัง ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม4 (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (2.1) เลือกพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ในโครงการมันสำปะหลังแปลงใหญ่หรือแปลงเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ไม่พบการระบาด หรือไม่มีการระบาดของโรค (2.2) แปลงที่เข้าร่วมโครงการต้องผ่านการตรวจประเมินแหล่งท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด (2.3) ผู้ทำหน้าที่ตรวจประเมินแปลงต้องผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจประเมินแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด หรือได้รับการถ่ายทอดความรู้ หลักเกณฑ์วิธีการตรวจประเมินแปลงจากเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจประเมินแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด (2.4) มีการสำรวจเพื่อค้นหาต้นเป็นโรคจากพื้นที่ที่คัดเลือก (2.5) มีการขึ้นทะเบียนแปลงพันธุ์สะอาดที่ผ่านการประเมิน (2.6) การสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้กับเกษตรกรที่พบการระบาดในพื้นที่ดำเนินการ อัตราไร่ละ 500 ลำ (3) ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกำจัดต้นที่เป็นโรคและควบคุมการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค กรณีเกษตรกรไม่ยินยอมให้ทำลายต้นมันสำปะหลังให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (4) สร้างการรับรู้และชี้แจงโครงการ โดยอบรมและชี้แจงการดำเนินโครงการ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระดับอำเภอ จังหวัด และส่วนกลาง จำนวน 700 รายและอบรมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 40,000 ราย (5) ประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ป้ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้น (6) ติดตามและประเมินผลโครงการ เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนหากเกิดการระบาดซ้ำ |
5. งบประมาณ |
กรอบวงเงินในการดำเนินโครงการฯ 1,329.22 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,264.2 ล้านบาท และงบประมาณของกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 65.02 ล้านบาท |
6. หน่วยงานดำเนินการ |
(1) กรมส่งเสริมการเกษตร (2) กรมวิชาการเกษตร (3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (4) ธ.ก.ส. |
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางปี 2561 ในแถบ 7 จังหวัด ใกล้บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าเป็นการระบาดจากแปลงมันสำปะหลังที่เป็นโรคในประเทศกัมพูชา โดยมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ (24 กันยายน 2562) อนุมัติให้ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังเพื่อกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคดังกล่าว โดยดำเนินการเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปี 2563 ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการดำเนินโครงการไม่ได้ดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการระบาดทั้งหมด คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ (18 สิงหาคม 2563) ให้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการจากเดิมครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด เป็นดำเนินโครงการในทุกจังหวัดที่ปลูกมันสำปะหลัง โดยครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิ แต่โดยที่ระยะเวลาดำเนินโครงการสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ดำเนินการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างเพิ่มเติมบางส่วนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว รวมทั้งได้เสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ขึ้น โดยมีกรอบวงเงินรวม 1,329.22 ล้านบาท ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการจ่ายเงินค่าชดเชยการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างและกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบให้แก่เกษตรกร (วงเงิน 864 ล้านบาท) รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรค (วงเงิน 400 ล้านบาท) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นควรดำเนินการทั้งในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิเพื่อกำจัดโรคอย่างเด็ดขาดไม่ให้มีการระบาดอีก
__________________
111 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
216 จังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท ชัยภูมิ นครสวรรค์ มหาสารคาม มุกดาหาร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี จันทบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อำนาจเจริญ และอุทัยธานี
3เดิมในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการฯ โดยมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 - กันยายน 2564 แต่ กษ. ได้ปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
4กรณีที่มีศัตรูพืชที่ก่อความเสียหายร้ายแรงซึ่งหากไม่รีบทำลายอาจระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้เจ้าของจัดการทำลายพืช ศัตรูพืช และพาหะนั้นได้ หรือเจ้าหน้าที่จะทำลายเองโดยเจ้าของเป็นผู้เสียค่าทำลาย ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามนัยพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51043
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ