รายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 May 2021 12:03
- Hits: 1183
รายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอรายงานผลการปฏิบัติงานของ สตง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สตง. ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานของ สตง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การตรวจเงินแผ่นดิน จำแนกตามลักษณะงานตรวจสอบได้ดังนี้
1.1 การตรวจสอบการเงิน สตง. ได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน จำนวน 8,865 รายงาน รวม 8,490 หน่วยงาน โดยได้แสดงความเห็นเป็นรายงานของผู้สอบบัญชีอย่างไม่มีเงื่อนไข 7,525 รายงาน แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่อรายงานการเงิน 1,144 รายงาน แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง 47 รายงาน และไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน 149 รายงาน
1.2 การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย สตง. ได้ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการเงิน ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบกรณีพิเศษ และตรวจสอบเชิงป้องกัน จำนวน 7,663 รายงาน/สัญญา/ประกาศ รวม 4,063 หน่วยงาน พบข้อบกพร่อง 4,759 รายงาน/สัญญา/ประกาศ รวม 3,257 หน่วยงาน มูลค่าความเสียหายทั้งจากการต้องเรียกเงินคืน รายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม และประมาณการมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินงาน และความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ รวม 1,921.64 ล้านบาท
1.3 การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน สตง. ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ฯ จำนวน 61 เรื่อง/โครงการ รวม 89 หน่วยงาน พบข้อตรวจพบ และแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการมิให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวม 41,565.84 ล้านบาท
2. การดำเนินการด้านความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ สตง. ได้ติดตามและประสานงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยสั่งลงโทษทางปกครองที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังและกำหนดโทษปรับทางปกครองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ถูกลงโทษจะต้องชำระเงินค่าปรับทางปกครองและนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 75 ราย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น14.02 ล้านบาท และได้ชำระเงินค่าปรับทางปกครองครบถ้วนแล้ว 29 ราย เป็นเงิน 4.04 ล้านบาทโดยการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้การบังคับโทษเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องปรามผู้ที่จะกระทำผิดรายอื่น
3. การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และการใช้จ่ายเงินแผ่นดินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ สตง. ได้สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการให้คำปรึกษา แนะนำ หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน โดยจัดอบรมสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และการตระหนักถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐตามหลักการบริหารการเงินการคลังภาครัฐอย่างถูกต้องให้แก่บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 8,187 คน รวม 2,530 หน่วยงาน รวมทั้งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารพัสดุ การเงิน การบัญชี การเบิกจ่าย งบประมาณ การคลัง ข้อสังเกตที่พบจากการตรวจสอบ และความรู้เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้แก่บุคลากรหน่วยงานภาครัฐและบุคคลภายนอก รวมทั้งสิ้น 207 หน่วยงาน 235 เรื่อง
4. การเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ สตง. ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้แก่นิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ 15 แห่ง จำนวน 5,121 คน เพื่อให้ได้ทราบถึงบทบาทหน้าที่และอำนาจที่สำคัญของ สตง. การสร้างความตระหนักและความสำคัญของการปกป้องดูแลเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ รวมทั้งเกิดความเข้าใจแนวทางการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5. การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ในการพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบ โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและขยายผลการพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์ของลักษณะงานตรวจสอบอื่นต่อไป รวมทั้งได้จัดทำระบบบริหารจัดการการตรวจสอบรายงานการเงินของ อปท. ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ตรวจสอบในการจัดทำ สอบทาน และจัดเก็บกระดาษทำการในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ รวมทั้งช่วยในการติดตามความคืบหน้าสำหรับการปฏิบัติงานตรวจสอบรายงานการเงินของ อปท. เพื่อสร้างความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานตรวจสอบการเงินแบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. การประสานงานและความร่วมมือระหว่างประเทศ สตง. ได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการในเวทีนานาชาติ จำนวน 9 ผลงาน สร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยในเวทีสากล และทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนคณะทำงานด้านการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI) หรือ Steering Committee of INTOSAI Working Group on Environmental Auditing: WGEA ซึ่งเป็นคณะทำงานของ INTOSAI ที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำโครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมกรณีการตรวจสอบประเด็นความยั่งยืนในการขนส่งสาธารณะ
7. ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สตง. ได้ผลคะแนนการประเมินรวม 92.12 คะแนน อยู่ในระดับ A โดยมีคะแนนรวมสูงขึ้นจากการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้คะแนนรวม 89.96 คะแนน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51038
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ