ผลการพิจารณารายงานความก้าวหน้าการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 May 2021 11:58
- Hits: 925
ผลการพิจารณารายงานความก้าวหน้าการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานความก้าวหน้าการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานความก้าวหน้าการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ (1) การจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลควรเร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อฝ่ายนิติบัญญัติโดยเร็ว (2) กรอบความคิด ประเด็นสำคัญ หลักการและเหตุผล และร่างกรอบการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้จัดทำไว้สำหรับยกร่างกฎหมายนั้นเหมาะสมแล้ว (3) วธ. โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ควรเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำและเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว (4) ควรปรับชื่อร่างพระราชบัญญัติเป็น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม คุ้มครอง และอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... เพื่อให้ครอบคลุมสาระสำคัญทั้ง 3 ด้าน คือการส่งเสริม การคุ้มครอง และการอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ วธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
วธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. การจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลควรเร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อฝ่ายนิติบัญญัติโดยเร็ว |
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยจะเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนมิถุนายน 2564 |
|
2. กรอบความคิด ประเด็นสำคัญ หลักการและเหตุผล และร่างกรอบการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้จัดทำไว้สำหรับยกร่างกฎหมายนั้นเหมาะสมแล้ว |
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์กลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย “ส่งเสริม” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 70 มุ่งให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิเสมอภาคกันอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และวางแนวทางในการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความต้องการและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ |
|
3. วธ. โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ควรเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำและเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว |
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย วธ. เป็นผู้เสนอแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยงตั้งแต่ปี 2553 และมีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในคณะกรรมการอำนวยการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง จึงมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนแนวนโยบายในการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีฐานะเป็นหน่วยงานวิชาการ ที่ทำงานด้านชาติพันธุ์โดยตรง มีข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายชาติพันธุ์ได้มอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติ |
|
4. ควรปรับชื่อร่างพระราชบัญญัติ เป็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริม คุ้มครอง และอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เพื่อครอบคลุมสาระสำคัญทั้ง 3 ด้าน |
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย วธ. ได้ปรับชื่อร่างเป็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและเป้าหมาย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51037
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ