ผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 May 2021 11:47
- Hits: 216
ผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง จะต้องชะลอการขอจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ภายในประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2) ควรมีการจัดตั้งสถาบันพืชควบคุมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แห่งชาติเข้ามาบริหารจัดการ 3) ให้ยกเลิกมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เพื่อลดการผูกขาดโดยรัฐ ควรเปิดโอกาสให้มีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ครอบครองกัญชา และ 4) กำหนดให้มีการศึกษาวิจัยสายพันธุ์พืชเสพติดอย่างเปิดกว้างเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์และองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่อง และมีข้อสังเกต ดังนี้ 1) การยกเลิกพืชเสพติด ได้แก่ กัญชา กัญชง และกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) ควรจะต้องมีการประมาณการ ปริมาณการผลิต ความต้องการของตลาด ผลตอบแทน และมีระบบติดตามตรวจสอบที่ดี ภายหลังที่กฎหมายในประเทศอนุญาตให้มีการส่งออกกัญชา กัญชง และกระท่อม 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการอนุวัติการ (Implementation) กฎหมายภายในประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของนักปรับปรุงพันธุ์พืชและบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ผลักดัน และ 4) การกำหนดให้กัญชงเป็นยาเสพติด ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมของเส้นใยและเมล็ดอาจจะถูกตีความว่าเป็นยาเสพติดไปด้วย
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 2 โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าว และจะนำข้อเสนอแนะและข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือพิจารณาประกอบการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เรื่อง กัญชา กัญชง และพืชกระท่อมต่อไป ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ผลการพิจารณาเกี่ยวกับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตตามรายงานของคณะกรรมาธิการ |
||
ข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1) การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง จะต้องชะลอการขอจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ภายในประเทศออกไปก่อน เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้อง |
- กษ. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ และรับไปพิจารณาดำเนินการ |
|
2) ควรมีการจัดตั้งสถาบันพืชควบคุม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แห่งชาติเข้ามาบริหารจัดการ |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยในหลักการ แต่อาจมีความทับซ้อนกับการควบคุมพืชที่เป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เนื่องจากถ้ากำหนดชื่อของสถาบันเฉพาะเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดังนั้น ทุกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากส่วนประกอบของพืชควบคุมจะถูกกำหนดให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้นหรือไม่ ชื่อของสถาบันอาจไม่สอดคล้องกับการนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชควบคุมมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือทางการค้า |
|
3) ให้ยกเลิกมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เพื่อลดการผูกขาดโดยรัฐ ควรเปิดโอกาสให้มีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ครอบครองกัญชา |
- อย. รับข้อสังเกตเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงกฎ ระเบียบต่อไป และในส่วนการนิรโทษกรรม กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ และมียากัญชาใช้ในสถานพยาบาลและให้สามารถขออนุญาตเพื่อการศึกษาวิจัยได้อยู่แล้ว จึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องเปิดให้แจ้งการครอบครองอีก |
|
4) กำหนดให้มีการศึกษาวิจัยสายพันธุ์พืชเสพติดอย่างเปิดกว้างเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์และองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่อง |
- อย. สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการขออนุญาตศึกษาวิจัยพันธุ์พืชเสพติดเพื่อการแพทย์และอื่นๆ เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์และองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องแล้ว |
|
- กษ . ร่วมกับ อย. มีการลงนามในข้อตกลงเพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงพันธุ์ และขึ้นทะเบียนพันธุ์ นอกจากนี้ ในกฎหมายปัจจุบันเปิดโอกาสให้มีการใช้พืชเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้ ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการขอรับอนุญาตเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยแล้ว เช่น สวทช. มหาวิทยาลัยต่างๆ
|
||
ข้อสังเกต |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1) การยกเลิกพืชเสพติด ได้แก่ กัญชา กัญชง และกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
- อย. สำนักงาน ป.ป.ส. เห็นว่า กัญชา และกัญชงจัดเป็นพืชในสกุล Cannabis ถูกควบคุมภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมพิเศษและห้ามการผลิต นำเข้า ส่งออก การใช้ประโยชน์ เว้นแต่ในปริมาณเท่าที่จำเป็นสำหรับการใช้ทางการแพทย์หรือการศึกษาวิจัยเท่านั้น โดยประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว จึงต้องดำเนินการภายใต้กรอบของอนุสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมและพันธกรณีที่ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการ ทั้งนี้ กรณีการยกเลิกกัญชา และกัญชงจากการควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษก็อาจกระทำได้โดยตรากฎหมาย ควบคุมกัญชาและกัญชงเป็นการเฉพาะ จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดและมีระดับไม่ต่ำกว่ามาตรการตามที่อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 กำหนด กรณีของกระท่อม สำนักงาน ป.ป.ส. อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิกพืชกระท่อมจากกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ |
|
2) ควรจะต้องมีการประมาณการ ปริมาณการผลิต ความต้องการของตลาด ผลตอบแทน และมีระบบติดตามตรวจสอบที่ดี ภายหลังที่กฎหมายในประเทศอนุญาตให้มีการส่งออกกัญชา กัญชง และกระท่อม |
- อย. ได้ดำเนินการประมาณการการใช้ยาเสพติดในประเทศแจ้งการนำเข้า ส่งออก เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 พร้อมทั้งจัดทำระบบติดตามตรวจสอบ Track and Trace - พณ. ได้มีการรวบรวมข้อมูลการใช้กัญชา กัญชงในต่างประเทศเพื่อจัดเตรียมข้อมูลประเทศที่สามารถจะนำเข้าได้ภายใต้การควบคุมตามกฎ ระเบียบ ของประเทศนั้นๆ หรือประเทศใดที่มีโอกาสนำเข้าได้และยินดีสนับสนุนข้อมูลและการดำเนินการ กรณีการส่งออก โดยต้องพิจารณาจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของต่างประเทศด้วย - กษ. จะสนับสนุนการผลิต การวิจัย พัฒนาด้านสายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ได้กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทางการเกษตร และได้ผลผลิตที่ดีเป็นไปตามที่ต้องการของตลาด |
|
3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการอนุวัติการ (Implementation) กฎหมายภายในประเทศ ให้มีความรอบคอบ เพื่อส่งเสริมให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของนักปรับปรุงพันธุ์พืชและบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ผลักดัน |
- กษ. เห็นว่า กรณีการจดทะเบียนพันธุ์ใหม่ หากเกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศ ซึ่งมีคณะกรรมการที่จะพิจารณารับรองพันธุ์และมีกฎระเบียบอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของการคุ้มครอง หรือการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยมีสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นผู้ดูแล - พณ. โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เห็นด้วย เนื่องจากจะทำให้กฎหมายสามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ภายในประเทศมากขึ้น |
|
4) การกำหนดให้กัญชงเป็นยาเสพติดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมของเส้นใยและเมล็ด ซึ่งอาจจะถูกตีความว่าเป็นยาเสพติดไปด้วย |
- ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ให้มีการควบคุมการปลูกพืชในสกุล Cannabis ประเทศภาคีสมาชิกต้องมีบทบัญญัติที่ควบคุมในระดับที่ไม่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันตามประกาศ สธ. เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ได้ยกเว้นให้เมล็ดกัญชงที่มาจากการผลิตที่ได้รับอนุญาตไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แล้ว |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51036
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ