รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 May 2021 01:33
- Hits: 2244
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดของประชาชน กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน โดยขอให้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ
2. กสม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวซึ่งมีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษา สนับสนุน และสำรวจออกแบบเพื่อการพัฒนา อนุรักษ์ บูรณะและป้องกันพื้นที่ริมตลิ่งและชายฝั่ง ระหว่างปี 2552 - 2556 โดยมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่ง 0.59 - 2.68 เมตรต่อปี ประกอบกับประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการจัดเซาะถนนในช่วงฤดูมรสุม กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลเพื่อป้องกันทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนไม่ให้ได้รับความเสียหายจากคลื่นกัดเซาะ จากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นพบว่า ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ชายฝั่งบริเวณจุดสิ้นสุดของเขื่อนคอนกรีตขั้นบันไดดังกล่าวด้านทิศเหนืออาจเกิดการกัดเซาะเพิ่มขึ้น และในช่วงระยะการก่อสร้างพบปัญหาผลกระทบในเรื่องของอากาศ เสียง การจราจร วิถีชีวิต และการทำประมง โดยโครงการดังกล่าวต้องก่อสร้างลงไปในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของตลิ่ง ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทส. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เพื่อให้มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างบูรณาการ โดยผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติหรือคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พ.ศ. .... รวมทั้งได้จัดทำรายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว
3. ที่ผ่านมาชายฝั่งหาดมหาราชไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จะพบปัญหาการกัดเซาะเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมเท่านั้น แต่ประชาชนในพื้นที่มีข้อห่วงกังวลว่า หากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลบริเวณหาดมหาราชแล้วเสร็จจะทำให้ชุมชนชาวประมงที่อยู่ทางด้านทิศเหนือจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนทิศทางของคลื่นเกิดการกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น และเกรงว่าระบบนิเวศชายฝั่งจะเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ซึ่ง กสม. เห็นว่า ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคคลและชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น จะต้องได้รับโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยไม่จำกัดเพียงแค่สิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่รวมถึงสิทธิในการร่วมจัดการ ใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยรัฐจะต้องทำหน้าที่ในการเปิดโอกาสให้บุคคลและชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้เข้าถึงสิทธิที่ได้รับการรับรองดังกล่าว นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าว ยังเป็นแหล่งอาศัยและสืบพันธุ์ของจักจั่นทะเล ซึ่งมีความสำคัญที่บ่งบอกถึงความสะอาดของชายหาดที่ควรแก่การอนุรักษ์ รวมทั้งทรัพยากร (หอยเสียบ) ที่เป็นแหล่งทำการประมงพื้นบ้านของชุมชน โดยข้อมูลในส่วนนี้ไม่ปรากฏในรายงานผลการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลทางวิชาการที่มีความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน เนื่องจากการดำเนินโครงการนอกจากจะส่งผลกระทบให้เกิดการกัดเซาะเพิ่มขึ้นบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศชายฝั่งอันอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนต่อไปในระยะยาว ซึ่งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การแก้ไขปัญหาในทางกายภาพ แต่สาเหตุของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การสูญเสียระบบนิเวศในบริเวณชายหาด การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องพิจารณาให้ครบถ้วนและต้องพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากหากมีสิ่งก่อสร้างบนชายหาดจะเป็นการตัดความเชื่อมโยงระหว่างชายหาดและทะเลทำให้ระบบนิเวศและคุณค่าในพื้นที่สูญหายไป และจากการที่ประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และไม่ได้รับทราบรายละเอียดของโครงการและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วน เพื่อใช้ประกอบการแสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวลและการตัดสินใจตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง รวมทั้งมีการดำเนินโครงการที่อาจไม่สอดคล้องกับแนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับการรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงไม่สอดคล้องกับการทำหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวผู้ดำเนินการจะต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวตามสิทธิที่ได้มีการรับรองและคุ้มครองไว้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ในเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคม (คค.) มท. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คค. มท. และ สคก. แล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 โดยมีผลการพิจารณาในภาพรวมสรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณามอบหมายให้ ทส. ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการหรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าว ตามมาตรา 48 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อพิจารณาความจำเป็นต่อการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเลให้ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามขนาดหรือระยะทางที่ใช้ข้อมูลในทางวิชาการ ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าว โดยอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน โดยผ่านกระบวนการการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมทางวิชาการ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้านให้มีความรอบคอบรัดกุมและคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาของโครงการ |
แนวทางการดำเนินงานของ ทส. ในปัจจุบันมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ส่งผลจากการสร้างกำแพงริมชายฝั่งติดแนวชายฝั่งแบบครบถ้วนและยั่งยืนแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้ 1. กลไกการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เนื่องจากการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหารายโครงการจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบหาดที่เป็นปัญหาเชิงพื้นที่ในภาพรวมได้ทั้งระบบ และจะได้นำเสนอคณะอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 2. กลไกการแก้ไขปัญหาระดับรายโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 21 เพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พ.ศ. .... และได้จัดทำ (ร่าง) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล รวมทั้งได้จัดทำกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดจะเป็นกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 23 จังหวัดแบบบูรณาการในภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ที่จะให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นเอกภาพ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งมีกรอบแนวทางและรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามหลักวิชาการต่อไป |
|
2. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณามอบหมายให้ ทส. มท. และ คค. ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งให้เกิดกลไกการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และกลไกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ที่มุ่งหวังให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การบูรณาการและการส่งเสริมการมรส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ โดยอาจพิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติหรือคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการบูรณาการซึ่งจะทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำหรือเป็นผู้พิจารณาก่อนมีการอนุมัติให้ดำเนินโครงการในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสมต่อไป |
1. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินโครงการจะต้องกำหนดผู้มีส่วนได้เสียให้ครอบคลุมระบบหาดที่โครงการนั้นจะดำเนินการ และให้ความสำคัญต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ 2. ทส. มท. และ คค. ไม่ขัดข้องในการใช้ระบบคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติและคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด เป็นกลไกในการบูรณาการและให้คำแนะนำต่อโครงการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการบูรณาการการดำเนินงานด้านการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ รวมทั้งมีการกลั่นกรองเพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2565 โดยอาศัยกลไกของคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยใช้แนวทางการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 และหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2565 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51035
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ