สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 7/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 May 2021 00:12
- Hits: 2054
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 7/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 21พฤษภาคม 2564 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เสนอ ดังนี้
สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ
1. ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ดังนี้
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 165,810,164 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 91 จาก 218 ประเทศทั่วโลก
2) สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 21 พฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อและอยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 42,827 ราย (อยู่ในโรงพยาบาล 17,892 ราย และโรงพยาบาลสนาม 24,935 ราย) และหายป่วยแล้วสะสม 52,078 ราย ทั้งนี้ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 3,481 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 1,644 ราย ผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก จำนวน 874 ราย ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ระหว่างกักตัวในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด จำนวน 12 ราย และผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำและที่ต้องขัง จำนวน 951 ราย และหายป่วยแล้ว จำนวน 2,868 ราย
3) สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 พบว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและยังไม่ลดลง พื้นที่ต่างจังหวัด มีแนวโน้มคงตัว พบผู้ติดเชื้อผ่านชายแดนของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา และยังมีคนไทยรอกลับเข้าประเทศเพิ่มเติม ในส่วนของสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ชุมชนแออัด (ชุมชนในและรอบที่พักคนงานก่อสร้าง ชุมชนรอบตลาด และชุมชนรอบโรงงาน) สถานประกอบการ/สถานที่ทำงาน โรงงาน และตลาด โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ การสัมผัสบุคคลในครอบครัว สถานประกอบการ/ที่ทำงาน การเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง/ต่างจังหวัด การรับประทานอาหารร่วมกันและคลุกคลีกัน รวมทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มแรงงานถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และกลุ่มที่ไม่ทราบสถานะ
4) การดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ (1) มาตรการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และการให้การดูแลรักษาแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิใดๆ โดยยกระดับเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพทุกประเภท เป็นต้น (2) การเร่งรัดการแยกกักผู้ป่วยออกจากชุมชน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และพิจารณาการแยกกักในชุมชน (Bubble and Sealed) กรณีเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ (3) ทุกจังหวัดต้องเร่งกำกับติดตามมาตรการ (DMHTTA) อย่างเข้มข้น รวมทั้งเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง/สถานที่เสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นตลาด โรงงาน สถานประกอบการ/ที่ทำงาน โดยเฉพาะการงดรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม และ (4) เตรียมการรับมือการกลับเข้าประเทศโดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชาและมาเลเซีย ซึ่งเข้ามาทางด่านชายแดนและการลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เตรียมสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด (Local Quarantine) และโรงพยาบาลให้เพียงพอ
2. ที่ประชุมรับทราบการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อย ทั่วราชอาณาจักร สำหรับสถานศึกษา และมาตรการแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 ดังนี้
1) การปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยทั่วราชอาณาจักร สำหรับสถานศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 23 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ดังนี้
(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (4 จังหวัด) ให้สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา งดใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนมากกว่า 20 คน และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ
(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (17 จังหวัด) ให้สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากได้ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนมากกว่า 50 คน และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ
(3) พื้นที่ควบคุม (56 จังหวัด) ให้สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากได้ และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนมากกว่า 50 คน และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ
2) มาตรการแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดวันเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 หากสถานศึกษาใดต้องการเปิดภาคเรียนก่อนวันดังกล่าว ต้องดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และต้องมีลักษณะเข้าตามเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนด รวมถึงต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติวิธีการจัดการเรียนการสอน แบ่งตามพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้
(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (4 จังหวัด) ให้จัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกลใน 4 รูปแบบ ตามความเหมาะสม ได้แก่ (1) การเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ (On Air) (2) การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (Online) (3) การเรียนการสอนผ่านเว็บไซต์ ช่องยูทูป (Youtube) และแอปพลิเคชันของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) (On Demand) และ (4) การเรียนการสอนที่ให้นักเรียนรับหนังสือ แบบฝึกหัด หรือใบงานไปเรียนรู้ที่บ้าน ผ่านระบบไปรษณีย์ (On Hand) ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้จัดการเรียนการสอนตามปกติ (On-site) ตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19
(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (17 จังหวัด) และพื้นที่ควบคุม (56 จังหวัด) ให้สถานศึกษาเลือกรูปแบบการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ ตามความเหมาะสม ได้แก่ On-site, On Air, Online, On Hand และ On Demand ทั้งนี้ สถานศึกษาที่ประสงค์จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-site ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมจากระบบ Thai Stop Covid plus (TSC+) ครบทั้ง 44 ข้อ จากนั้นให้นำผลการประเมินดังกล่าวไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อเปิดเรียนแบบ On-site ต่อไป
3. มาตรการด้านสาธารณสุขในการจัดการประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ ประจำปีครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1) เห็นชอบมาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 ในการจัดประชุมรัฐสภาตามที่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ เพื่อใช้เป็นมาตรการหลักในการดูแลการประชุมในระหว่างสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564
2) มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นหน่วยกำกับและติดตามการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมควบคุมโรคกำหนด โดยมีมาตรการสำคัญด้านสาธารณสุขในการจัดการประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ ประจำปี ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 ดังนี้
(1) สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา ยกเว้นในช่วงเวลาที่ผู้ควบคุมการประชุมผ่อนผันระหว่างการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในที่ประชุม ตามความเหมาะสมแห่งสภาพการณ์และสมควรแก่เหตุ ตามข้อ 1 ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ
ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 23
(2) การนั่งในห้องประชุม ให้เว้นระยะห่าง 2 เมตร
(3) ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มีผู้ติดตามได้ 1 คน เท่านั้น
(4) ให้ตำรวจสภา กำกับการใช้ลิฟท์ไม่เกินครั้งละ 6 คน
(5) จัดอาหารให้สมาชิกเฉพาะบุคคล โดยงดรับประทานอาหารร่วมกัน
(6) งดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ทั้งสามัญและวิสามัญ รวมทั้งอนุกรรมาธิการ จนกว่าจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
(7) สำนักงานที่สามารถจัด Work from home ได้ ให้ดำเนินการร้อยละ 100
(8) ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด ตามสถานการณ์โควิด - 19
(9) ขอความร่วมมือให้ข้าราชการรัฐสภาฉีดวัคซีนทุกคน (ร้อยละ 100) หากผู้ใดไม่ฉีดวัคซีน จะไม่อนุญาตให้เข้าห้องประชุม (เว้นแต่มีเหตุจำเป็น)
3) มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีน จำนวน 2,000 โดส เพื่อฉีดระหว่างวันที่ 21 - 25 พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเพิ่มเติม กรณีการขอแยกจัดพื้นที่การประชุม สำหรับสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถถอดหน้ากากระหว่างการประชุมได้ โดยให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
4. ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
5. แผนการให้บริการวัคซีนโควิด - 19 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อที่ประชุมพิจารณา ดังนี้
1) แผนการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 1 ในเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 ประเทศไทยได้กำหนดให้วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลักสำหรับการป้องกันโรคโควิด - 19 โดยในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 มีแผนการฉีดวัคซีน AstraZeneca จำนวน 36,000,000 โดส เพื่อฉีดวัคซีนปูพรมเป็นเข็มที่ 1 และในช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2564 มีแผนการฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จำนวน 10 กลุ่ม ดังนี้
(1) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
(2) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด - 19 หรือบริการประชาชน และมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
(3) ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว
(4) ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
(5) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค เช่น ครู พนักงานขับรถสาธารณะ ชาวไทยที่จะไปศึกษา/ ทำงาน/ประกอบธุรกิจยังต่างประเทศ
(6) คณะทูตานุทูตและครอบครัว รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ
(7) ประชาชนทั่วไป
(8) ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
(9) นักธุรกิจ/ผู้ประกอบการ/ชาวต่างชาติ/แรงงานต่างด้าวที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย
(10) กลุ่มอื่นๆ ตามความจำเป็น และสถานการณ์การระบาด
2) การนัดหมายผ่านองค์กร
(1) กรณีองค์กรสามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อขอรับวัคซีนได้จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
(2) องค์กรไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อนัดหมายขอเข้ารับวัคซีนแบบกลุ่ม ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการฯ กำหนด
(3) กรณีองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัดหรือองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แจ้งอธิบดีกรมควบคุมโรค โดยหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเอง
(4) กรณีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (จำนวน 16,000,000 คน) ให้ดำเนินการ ดังนี้
- สำนักงานประกันสังคมจัดแผนฉีดวัคซีนโดยตรง
- กำหนดสถานพยาบาลที่ฉีดวัคซีนตามสิทธิ และเชิงรุกนอกสถานพยาบาล
- ดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/สำนักงานประกันสังคม
3) การจัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 สำหรับกลุ่มเป้าหมายจำเพาะ โดยให้สามารถเข้ารับวัคซีนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ดังนี้
(1) กลุ่มคณะทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศ
(1.1) กรณีองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรคเพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้กับบุคลากรในสังกัดได้
(1.2) กรณีประสงค์จะรับวัคซีนเป็นรายบุคคล สามารถนัดหมายโดยตรงเพื่อเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมให้บริการชาวต่างชาติ
(2) กลุ่มชาวไทยที่จะขอรับวัคซีนก่อนไปศึกษาต่อ/ทำงานในต่างประเทศ
(2.1) กรณีผ่านองค์กร เช่น หน่วยงานผู้ให้ทุนการศึกษา สถานประกอบการ เป็นต้น
- องค์กรสามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อขอรับวัคซีนได้จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
- องค์กรไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อนัดหมายขอเข้ารับวัคซีนแบบกลุ่ม ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการฯ กำหนด
(2.2) กรณีประสงค์จะรับวัคซีนเป็นรายบุคคล
- ลงทะเบียนและเข้ารับวัคซีนได้ 3 ช่องทาง คือ (1) “หมอพร้อม” (Line OA และ Application) (2) นัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ (3) การลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-site Registration)
- ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรณีการเดินไปศึกษาต่อหรือทำงานในต่างประเทศ สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลบางรัก โดยจะต้องแสดงหลักฐานการเดินทางไปศึกษาหรือทำงานในต่างประเทศ และหากมีสถานพยาบาลเพิ่มเติมตรวจสอบได้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
4) ระบบบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19
5) ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
(1) เห็นชอบแผนการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca รอบเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564
(2) เห็นชอบช่องทางการลงทะเบียนและเข้ารับวัคซีน 3 ช่องทาง คือ
(2.1) การจองผ่าน “หมอพร้อม” (Line OA และ Application)
(2.2) การนัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผ่านองค์กร หรือช่องทางอื่นที่จังหวัด/กรุงเทพมหานคร จัดเพิ่มเติม
(2.3) การลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-site Registration)
(3) เห็นชอบระบบการให้บริการวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายจำเพาะ เช่น คณะทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศ กลุ่มชาวไทยที่จะขอรับวัคซีนก่อนไปศึกษาต่อ/ทำงานในต่างประเทศ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
(4) มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดการประชาสัมพันธ์เรื่องช่องทางการรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 และการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายจำเพาะให้ทราบโดยทั่วกัน
(5) ให้เริ่มการฉีดวัคซีนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) บูรณาการความร่วมมือ ทั้งข้อมูลผู้ป่วย การบริหารจัดการเตียง อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ การบริหารจัดการวัคซีน ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการให้มากที่สุด
2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รณรงค์และเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยจัดเก็บข้อมูลผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าระบบฐานข้อมูล ทั้งนี้ ให้ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนให้กระชับและเข้าใจง่าย
3. ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ติดตามและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดในเวลาที่รวดเร็ว
4. ให้กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกระทรวงแรงงาน กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการให้ความช่วยเหลือและดูแลแรงงานต่างด้าวของตนที่ติดเชื้อ และดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการสอบสวนโรค ตรวจหาเชื้อเชิงรุก การกักกันตัว เพื่อป้องกันมิให้การแพร่ระบาดกระจายไปยังพื้นที่อื่น
5. ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการกระจายวัคซีน โดยประชาชนที่ประสงค์ฉีดวัคซีน ต้องได้ฉีดวัคซีน บริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดมาก ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือช่องทางต่างๆ ผู้ที่แจ้งความประสงค์เป็นหมู่คณะ เป็นต้น เพื่อให้การกระจายวัคซีนครอบคลุมประชากรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 - 80 ภายในเดือนกันยายน 2564
6. ให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสวัสดิการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น การทำประกันชีวิต การปรับปรุงพัฒนาอาคารหอพัก/บ้านพัก แพทย์พยาบาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดให้มีสภาพที่ดีขึ้น เป็นต้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์
7. ให้กระทรวงศึกษาธิการ สำรวจดูแลให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ผู้ปกครองประสบปัญหาจากภาวะวิกฤติโควิด - 19 และเตรียมการจัดระบบการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ทั้งนี้ ให้กรุงเทพมหานครกำกับดูแลความพร้อมในการจัดสรรวัคซีนให้กับครูของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
8. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว สถานการณ์จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด - 19 ทั้งประเทศ โดยให้จัดทำแผนภาพในการสื่อสารที่เข้าใจง่าย (อาทิ รูปแบบอินโฟกราฟิก ฯลฯ)
9. ให้กระทรวงแรงงาน บริหารจัดการกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและทำงานในพื้นที่ที่กำหนด (2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแต่มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำงานไปนอกพื้นที่ที่กำหนดไว้ และ (3) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย และขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
10. ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และหน่วยงานความมั่นคง ดำเนินการกวดขันและเฝ้าระวังตามพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย รวมทั้งให้เตรียมโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ชายแดนด้วย
11. ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ควบคุมและกำชับให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการจัดการประชุมรัฐสภาอย่างเคร่งครัด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51028
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ