ผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 May 2021 23:57
- Hits: 2094
ผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ดังนี้
ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอมาตรการการรับมือฤดูฝนปี 2564 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบมาตรการการรับมือฤดูฝนปี พ.ศ. 2564 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และ สทนช. เร่งบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการหรือแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งและฤดูฝนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป นั้น
ในการนี้ สทนช. ขอรายงานผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)
นับตั้งแต่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการโดยประกาศในราชกิจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562 โดยกำหนดแนวทางดำเนินการไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย (1) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค (2) การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย (4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ (5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ (6) การบริหารจัดการ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้บริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นระบบ โดยขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งโครงการขนาดเล็กและโครงการสำคัญผ่านกลไกคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนงานโครงการด้านน้ำ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 125,162 โครงการ วงเงินงบประมาณ 314,182 ล้านบาท มีแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 1,138 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,274,737 ครัวเรือน โดยมีรายละเอียดสรุปตามตาราง ดังนี้
แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) |
ผลการดำเนินงาน (พ.ศ.2561 – ปัจจุบัน) (หมายเหตุ : ร้อยละผลงานเทียบจากเป้าหมาย 5 ปี) |
|
1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เป้าหมาย : เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 14,534 หมู่บ้าน พัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐาน ขยายระบบประปาเมือง 388 แห่ง และเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง 346 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น |
- เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 3,214 แห่ง (59%) - การขยายเขต/เพิ่มเขตจ่ายน้ำ 556 แห่ง (21%) - แผนระบบประปาเมืองหลัก/พื้นที่เศรษฐกิจ 2 แห่ง (4%) - จัดหาแหล่งน้ำสำรอง 7 แห่ง (12%) 5.03 ล้าน ลบ.ม. (7%) |
|
2. การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เป้าหมาย : เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน ลดความเสี่ยงจากภัยด้านน้ำลง 50% โดยพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ 13,439 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ พัฒนาบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร 13,860 ล้าน ลบ.ม. |
- ฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 208 ล้าน ลบ.ม. (8%) - น้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 21.96 ล้าน ลบ.ม. (78%) - แหล่งน้ำชุมชน 0.91 ล้าน ลบ.ม. (91%) - สระน้ำในไร่นา 172.76 ล้าน ลบ.ม. (57%) - พัฒนาแหล่งเก็บน้ำ 635.35 ล้าน ลบ.ม. (56%) - พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 100.28 ล้าน ลบ.ม. (54%) - พัฒนาบ่อบาดาลท้องถิ่น 1,769 แห่ง 6.5 ล้าน ลบ.ม. - พัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน 1,067 แห่ง |
|
3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เป้าหมาย : ลดความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764 แห่ง จัดทำผังน้ำทุกลุ่มน้ำ ขุดลอกลำน้ำ 6,271 กิโลเมตร ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ แก้มลิง เป็นต้น |
- ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 110 แห่ง (20%) - ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 223 แห่ง (45%) - ระบบป้องกันชุมชนเมือง 3 แห่ง (2%) - เขื่อนป้องกันตลิ่ง 59 กิโลเมตร (11%) |
|
4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เป้าหมาย : ให้แหล่งน้ำมีคุณภาพในระดับพอใช้ขึ้นไป พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง |
- ระบบบำบัดที่ก่อสร้างใหม่ 11 แห่ง (11%) - ระบบบำบัดที่เพิ่มประสิทธิภาพระบบเดิม 1 แห่ง (3%) - ควบคุม กำกับ แหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ 1,120 แห่ง (12%) |
|
5. การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน เป้าหมาย : ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพ 3.52 ล้านไร่ และป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่เกษตรลาดชัน 21.45 ล้านไร่ |
- ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 135,170 ไร่ (18%) - ป้องกัน ลดการชะล้างพังทลายของดิน 3,563 ไร่ (1%) - ป้องกัน ลดการชะล้างพังทลายของดิน (พื้นที่เกษตรนอกพื้นที่อนุรักษ์) 367,900 ไร่ (37%) |
|
6. การบริหารจัดการ เป้าหมาย : เพื่อให้มีกฎหมาย องค์กรในการจัดการน้ำที่มีเอกภาพ ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและสร้างความร่วมมือด้านน้ำกับต่างประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ |
- จัดทำ ปรับปรุง กฎหมาย พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และจัดทำกฎหมายลำดับรอง 12 ฉบับ (และอยู่ระหว่างพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาอีก 5 ฉบับ) - จัดทำแผนแม่บทน้ำ-ระดับลุ่มน้ำ และแผนปฏิบัติการ - ศึกษาวิจัยแนวทางจัดการน้ำ ได้แก่ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ 9 ลุ่มน้ำ ได้แก่ สะแกกรัง บางปะกง แม่กลอง โขงตะวันออกเฉียงเหนือ ชี มูล เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก - พัฒนา application Thai Water Plan เพื่อติดตามแผนงานโครงการด้านน้ำ และ application National Thai Water เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ - ตั้งองค์กรเพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ |
2. ผลการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชน สทนช. ได้ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมความรู้ทางวิชาการ และให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ โดยใช้กลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ในการพิจารณากลั่นกรองแผนงานโครงการ
ปัจจุบันมีแหล่งน้ำขนาดเล็กจำนวน 140,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศได้มีการเร่งพัฒนาจัดการแหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดย สทนช. ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รวมทั้งภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมดำเนินการผ่านกลไกของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำหน้าที่สนับสนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถดูแลรักษา พัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนของตนเองได้ ซึ่งขับเคลื่อนผ่านกลไกของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ รวมจำนวน 6,453 แห่ง ได้แก่
- สทนช. และ BOI ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดการน้ำชุมชน โดยบริษัท มิตรผล ไบโอ – พาวเวอร์ (ด่านช้าง) จำกัด ดำเนินการโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 21 แห่ง
- มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ดำเนินการโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ จำนวน 1,817 แห่ง
- มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ในพื้นที่ 1,659 หมู่บ้าน เครือข่ายเยาวชน 318 กลุ่ม พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน จำนวน 22 แห่ง
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ดำเนินการเสนอแผนงานโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ภายใต้แผน 3.4 ในโครงการบริหาร พัฒนาชุมชน สู่ความยั่งยืน จำนวน 2,956 หมู่บ้าน
3. ผลการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญจากผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีผลสัมฤทธิ์ต่อการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เห็นชอบต่อแผนงานโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2559 รวมจำนวน 38 โครงการ นำไปสู่การขออนุมัติเปิดโครงการและขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความพร้อม โดยสรุป ดังนี้
3.1 ได้รับงบประมาณแล้วจำนวน 23 โครงการ โดยมี 5 แผนงานที่ได้รับงบประมาณบางส่วน เนื่องจากเป็นแผนหลักการพัฒนาพื้นที่ จึงต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับงบประมาณเป็นรายโครงการตามความพร้อมอีกครั้ง ได้แก่ แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก แผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างจ.หนองคาย แผนบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำนวน 38 โครงการ
3.2 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 11 โครงการ ประกอบด้วย
(1) โครงการของการประปาส่วนภูมิภาค เป็นการขยายเขตประปาเมืองสำคัญ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ กปภ. สาขาแม่สาย – ห้วยไคร้ – แม่จัน - เชียงแสน กปภ. สาขาเพชรบูรณ์ - หล่มสัก กปภ.สาขาสมุทรสาคร - นครปฐม กปภ. สาขาพังงา - ภูเก็ต และ กปภ. สาขานครศรีธรรมราช
(2) โครงการที่เสนอโดยท้องถิ่น จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการผลิตน้ำประปาบ้านมะขามเฒ่า จ.นครราชสีมา
(3) โครงการของกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองพระยาราชมนตรีโครงการเขื่อน ค.ส.ล. (สมอยึดหลัง)คลองบางไผ่ โครงการเขื่อน ค.ส.ล. และรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบโครงการเขื่อน ค.ส.ล.คลองบางนา และโครงการขยายคลองอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ
3.3 โครงการที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงราย สถานีสูบน้ำดิบเพื่อการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี อ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง และอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ หากโครงการทั้ง 38 โครงการที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบสามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 629 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ได้รับประโยชน์ได้ 1.4 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 312,612 ครัวเรือน
4. ผลสำเร็จจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมาผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจากการดำเนินงานที่ผ่านมาในการลดความเสียหายจากภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ดังนี้
- สถานการณ์ภัยแล้งในปี พ.ศ. 2562 เป็นปีที่แล้งรุนแรงเป็นลำดับที่ 2 รองจากปี พ.ศ. 2558 แต่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี พ.ศ. 2562 จำนวน 30 จังหวัด 891 ตำบล 7,662 หมู่บ้าน ที่สำคัญในปี พ.ศ. 2563/2564 ไม่มีการประกาศภัยแล้ง ซึ่งต่างจากหลายปีที่ผ่านมา
- สำหรับช่วงฤดูฝนใช้การร่วมกันวิเคราะห์ คาดการณ์ กำหนดพื้นที่เป้าหมายล่วงหน้า โดยทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน ทำให้มูลค่าความเสียหายน้อยลง รวมถึงการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงาน มีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท ต่ำสุดนับตั้งแต่หลังอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 และในปี พ.ศ. 2563 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 58 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย 223 ล้านบาท ต่ำสุดเป็นลำดับที่ 3 ในรอบ 9 ปี
- สทนช. ได้บูรณาการแผนงาน/โครงการหนองบึงและแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ให้มีการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยมีแผนหลักที่ผ่านความเห็นชอบของ กนช. แล้ว ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงราชนก จ.พิษณุโลก หนองหาน จ.สกลนคร และคลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร สำหรับหนองบึงที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่ บึงสีไฟ จ.พิจิตร กว๊านพะเยา จ.พะเยา และเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย
5. เป้าหมายงานที่จะดำเนินการต่อไป
5.1 สทนช. บูรณาการแผนงาน/โครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อลดความซ้ำซ้อนของแผนงาน/โครงการ สอดคล้องตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนและโครงการสำคัญให้เป็นระบบ สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความสอดคล้องในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป โดยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศและฐานข้อมูล ได้แก่ Application Thai Water Plan และ Application National Thai Water มาใช้ในการวางแผนและติดตามแผนงานโครงการด้านน้ำ รวมทั้งบริหารสถานการณ์น้ำให้ถูกต้องและแม่นยำ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
5.2 การขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็กและการจัดการแหล่งน้ำระดับชุมชนสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งมีเป้าหมายพื้นที่เกษตรน้ำฝน จำนวน 14.68 ล้านไร่ สำหรับในระยะต่อไปภายในปี พ.ศ. 2566 มีแผนดำเนินการ จำนวน 24,071 โครงการ สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาด้านน้ำระดับพื้นที่ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580 ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน การเติมน้ำใต้ดิน การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ การขุดเจาะบ่อบาดาล การทำแก้มลิง ขุดลอก ฝาย และการกำจัดวัชพืช เป็นต้น โดยกระจายในภูมิภาคต่างๆ ตามลักษณะภูมิประเทศ สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนพื้นที่
5.3 เพื่อให้การจัดการทรัพยากรน้ำมีความมั่นคงยิ่งขึ้น กนช. ได้เห็นชอบแผนงานโครงการสำคัญและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ต้องขับเคลื่อนภายในปี พ.ศ. 2566 รวม 526 โครงการ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
(1) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 151 โครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำแม่เมาะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย
(2) โครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท หรือโครงการที่ต้องบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน รวมจำนวน 106 โครงการ เช่น การพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล
(3) กลุ่มโครงการสำคัญที่สอดคล้องตามนโยบายการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ รวม 269 โครงการเช่น โครงการพัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี
หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 3,172 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม 6.5 ล้านไร่ และผันน้ำได้ปริมาณน้ำเพิ่ม 3,841 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ได้เพิ่ม 4.3 ล้านไร่ และการพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำชะลอน้ำหลากได้ 2,320 ล้าน ลบ.ม.
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51027
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ