สรุปผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ผ่านระบบออนไลน์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 May 2021 21:38
- Hits: 335
สรุปผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ผ่านระบบออนไลน์
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2564 และเห็นชอบร่างเอกสาร Looking ahead to the resumed UN Environment Assembly in 2022 – Message from online UNEA 5, Nairobi 22 – 23 February 2021 ทั้งนี้ หากมีความจะเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างเอกสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
สาระสำคัญ
1. การประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ และประธานสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
2. การหารือระดับผู้นำสำหรับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและผู้แทนระดับสูง
2.1 ที่ประชุมได้เน้นย้ำประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสภาพแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ซึ่งทำให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน และความเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และปัญหาสุขภาพ โดยต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันอย่างบูรณาการ รวมถึงการฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่โลกคาร์บอนต่ำและเสริมสร้างภูมิต้านทานภายหลังการระบาด โดยมีการเสนอการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ด้านสารเคมี ของเสีย ขยะพลาสติก เมืองยั่งยืน การมีส่วนร่วมของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนบทบาทของ UNEP ในการนำยุทธศาสตร์ระยะกลางมาใช้และประสานความร่วมมือระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม
2.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเน้นถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูอย่างยั่งยืน โดยยกตัวอย่างการดำเนินงานของประเทศไทย เช่น (1) การประกาศใช้ “Bio-Circular-Green-Economy” หรือ BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุม สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (2) การยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ UNEP เพิ่มความร่วมมือในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี เทคโนโลยีใหม่ และนวัตกรรมที่ส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. เอกสารผลลัพธ์การประชุม ซึ่งได้รับรองเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ได้แก่ ข้อความความสาร Looking ahead to the resumed UN Environment Assembly in 2022 – Message from online UNEA 5 (มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ ของเสีย และสารเคมี การดำเนินงานตามความร่วมมือพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ) มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขสาระสำคัญของเอกสารให้เปลี่ยนแปลงไปและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51024
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ