อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 May 2021 00:01
- Hits: 1028
อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาเสนอดังนี้
1. อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทน กรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ จำนวน 82 แปลง เนื้อที่ 422-1-15 ไร่ ในอัตราไร่ละ 125,000 บาท เป็นเงิน 52,785,937.50 บาท และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 22 แปลง เนื้อที่ 206-2-02 ไร่ ในอัตราไร่ละ 45,000 บาท เป็นเงิน 9,292,725 บาท ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษและคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งสิ้น 104 แปลง เนื้อที่ 628-3-17 ไร่ เป็นเงิน 62,078,662.40 บาท โดยในส่วนของงบประมาณ กรมชลประทานจะปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
2. เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร เห็นสมควรอนุมัติแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าทดแทน จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายละเอียดผลการตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย
1) ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ประธานกรรมการ
2) อัยการจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ
3) คลังจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ
4) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ
5) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ
6) ปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ
7) เกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ กรรมการ
8) ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรรมการ
9) ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ กรรมการ
10) ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง กรรมการ
11) นายอำเภอกันทรารมย์ กรรมการ
12) – 14) ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน กรรมการ
15) – 17) ผู้แทนกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการ
18) ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา
สำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน กรรมการและเลขานุการ
19) หัวหน้าฝายจัดหาที่ดินที่ 4 ส่วนจัดหาที่ดินที่ 2
สำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลผู้มีสิทธิ จำนวน 104 ราย และควบคุมการโอนจ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ จำนวนเนื้อที่ และจำนวนเงินค่าทดแทนตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติสำหรับการจ่ายเงินกรณีนี้เห็นสมควรจ่ายด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (จ่ายตรง) ตามบัญชีรายชื่อบุคคล ที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการฯ หรือทายาทของบุคคลดังกล่าวโดยให้ถือความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้เป็นหลักฐานประกอบการจ่ายเงินค่าชดเชย
สำหรับกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายหรือแบ่งขายที่ดินที่มีเอกสารสิทธิจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในกรณีอื่น รวมทั้งอาจขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนั้น กรณีราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนาตกลงขายที่ดินให้แก่กรมชลประทานต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนารายงานว่า
1. โครงการฝายหัวนาเป็นโครงการย่อยโครงการหนึ่งในโครงการโขง - ชี - มูล ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในปี 2532 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเดิมหน่วยงานรับผิดชอบโครงการคือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) โดยมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2544 แต่ได้มีการคัดค้านและเรียกร้องให้มีการทบทวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้การก่อสร้างโครงการดังกล่าวหยุดการดำเนินการ ต่อมาในปี 2545 โครงการฝายหัวนาได้ถูกถ่ายโอนภารกิจมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และได้มีการดำเนินการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในการเปิดใช้งานโครงการฝายหัวนา ทั้งนี้ ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (27 เมษายน 2553) ให้กรมชลประทานดำเนินการพัฒนาโครงการต่อไปจนแล้วเสร็จตลอดจนสำรวจข้อมูลและพิจารณาการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (16 พฤศจิกายน 2553 และ 1 ตุลาคม 2562) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาเพื่อพิจารณากำหนดราคา ค่าทดแทนทรัพย์สิน และให้ความเห็นชอบผลการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการพิสูจน์สิทธิกรณีแปลงที่ดินของราษฎรที่ถูกเขตโครงการฝายหัวนา ดังนี้
2.1 ประกาศให้ราษฎรยื่นคำร้อง/รับคำร้อง
2.2 นำคำร้องลงทำการรังวัด ตรวจสอบการครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่พร้อมให้มีการรับรองของแปลงข้างเคียงอย่างน้อย 2 ด้าน และให้ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศประกอบในการทำงาน และขึ้นรูปแปลงจัดทำแผนที่ ร.ว. 43 ก.1
2.3 นำเสนอคณะทำงานระดับอำเภอพิจารณาตรวจสอบและรับรองผลการทำงานของคณะทำงานระดับตำบล และติดประกาศให้มีการคัดค้านภายใน 30 วัน
2.3.1 กรณีไม่มีการคัดค้าน นำเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดพิจารณา
2.3.2 กรณีมีการคัดค้าน ให้นำกลับไปสู่กระบวนการตรวจสอบของคณะทำงานระดับตำบลในพื้นที่อีกครั้ง
2.4 คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาตรวจสอบผลการดำเนินงานพร้อมนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝ่ายหัวนา (ชุดใหญ่)
2.5 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา (ชุดใหญ่) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี
3. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ศรีสะเกษ เป็นประธานอนุกรรมการได้ดำเนินการตามกระบวนการ 5 ขั้นตอน (ตามข้อ 2) ในแปลงที่ดินจำนวน 916 แปลง2 ซึ่งช่างรังวัดกรมที่ดินได้ดำเนินการรังวัดตรวจสอบแปลงที่ดินแล้วเสร็จ จำนวน 850 แปลง โดยเป็นแปลงที่ดินที่มีสิทธิได้รับการชดเชยและสามารถดำเนินการรังวัดเพื่อจัดทำแผนที่ ร.ว. 43 ก. จำนวน 520 แปลง ส่วนแปลงที่ดินอื่นๆ เป็นแปลงที่ดินที่ทับซ้อนแปลงอื่น อยู่นอกเขตที่จะได้รับการชดเชยหรือไม่สามารถชี้แนวเขตแปลงที่ดินได้ เป็นต้น ต่อมาคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินจึงได้ดำเนินการตรวจสอบที่ดินจำนวน 520 แปลง ที่ผ่านการรังวัดและจัดทำแผนที่ ร.ว. 43 ก. โดยได้ดำเนินการตรวจสอบแปลงที่ดินเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 511 แปลง คงเหลือแปลงที่ดินอีกจำนวน 9 แปลง ที่จะดำเนินการตรวจสอบในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 ต่อไป
4. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 (12) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายชื่อราษฎรผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ดินที่ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 104 แปลง สรุปได้ ดังนี้
ประเภทของสิทธิ |
จำนวน (แปลง) |
เนื้อที่ (ไร่ – งาน – ตารางวา) |
อัตราต่อไร่ (บาท/ไร่) |
จำนวนเงิน3 (บาท) |
(1) ราษฎรเจ้าของที่ดิน (มีเอกสารสิทธิ ประเภท โฉนดที่ดิน นส.3 ก. และ นส.3) |
82 |
422-1-15 |
125,000 |
52,785,937.50 |
(2) ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 (ไม่มีเอกสารสิทธิ) |
22 |
206-2-02 |
45,000 |
9,292,725.00 |
รวม |
104 |
628-3-17 |
- |
62,078,662.50 |
___________________________
1 แผนที่ ร.ว. 43 ก. หมายถึง แผนที่และบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินที่ได้นำทำการรังวัดที่ดินหรือรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อการชลประทาน
2 ในปี 2562 มีราษฎรยื่นคำร้องเพิ่มเติมอีก จำนวน 7,492 แปลง โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของคำร้อง
3 การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินใช้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 พฤษภาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5724
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ